การควบรวมกิจการ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

การควบรวมกิจการ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

การควบรวมกิจการคือการที่ผู้ประกอบการตั้งแต่สองรายขึ้นไปควบรวมธุรกิจเข้าด้วยกัน ซึ่งมีวิธีการหลายรูปแบบ

เช่น ผู้ประกอบการรายหนึ่งตกลงซื้อกิจการหน่วยธุรกิจของผู้ประกอบการอีกรายหนึ่งแล้วนำหน่วยธุรกิจที่ซื้อมา เข้าควบรวมกับหน่วยธุรกิจเดิมของตน หรือผู้ประกอบการรายหนึ่งซื้อหุ้นของผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง จนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงแต่งตั้งกรรมการที่เป็นบุคลากรของตนจนได้อำนาจบริหารผ่านกรรมการ ที่เป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการ แล้วนำหน่วยธุรกิจของผู้ประกอบการรายนั้น มารวมกับหน่วยธุรกิจเดิมของตน หรือด้วยการควบบริษัท  

ในกรณีผู้ประกอบการนั้นเป็นบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดำเนินการควบกับอีกบริษัทหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1238 - มาตรา 1243 เมื่อควบกันแล้ว บริษัทที่ควบกันทั้งสองบริษัทเป็นอันเลิกไปเกิดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนขึ้นใหม่

คือบริษัท ก. บวกบริษัท ข. เป็นบริษัท ค. บริษัท ค. ที่เป็นบริษัทใหม่ได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดาที่บริษัท ก. และบริษัท ข. มีอยู่ทั้งหมด กิจการหรือหน่วยธุรกิจ ที่บริษัท ก. และบริษัท ข. มีอยู่เดิม ตกเป็นของบริษัท ค. ทั้งหมด

 

กรณีเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด อาจควบกับบริษัทมหาชนจำกัดอีกบริษัท หรือควบกับบริษัทเอกชน คือบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ได้ ตามมาตรา 146 - มาตรา 153

บริษัทมหาชนจำกัด ก. ควบกับบริษัทมหาชนจำกัด ข. หรือควบกับบริษัทเอกชน ค. ก็ได้ เมื่อควบกันและจดทะเบียนแล้ว เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ง. บริษัทมหาชนจำกัด ก. บริษัทมหาชนจำกัด ข. หรือ บริษัทเอกชน ค. สิ้นสภาพนิติบุคคล

บริษัทมหาชนจำกัด ง. ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหนี้ สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทมหาชนจำกัด ก. บริษัทมหาชนจำกัด ข. หรือบริษัทเอกชน ค. ไปทั้งหมด กล่าวคือ กิจการหรือหน่วยธุรกิจเดิมของ ก. ข. หรือ ค. ตกเป็นของ ง. ทั้งหมด

 

 

  • การควบรวมกิจการทำได้โดยเสรีหรือไม่

การควบรวมกิจการลักษณะดังกล่าวข้างต้น ทั้งการซื้อกิจการ ซื้อหุ้นจนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การควบบริษัท เมื่อดำเนินการโดยถูกต้องตามบทบัญญัติในเรื่องนั้น ย่อมเป็นเสรีภาพที่จะดำเนินการได้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัดเลย

หากการควบรวมกิจการนั้นก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ก็จะต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ป้องกันการผูกขาด คือ ในกรณีที่เป็นการประกอบกิจการทั่วไป จะอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560  ในกรณีที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544

 

  • การป้องกันการผูกขาด ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

มาตรา 51 วรรคหนึ่งบัญญัติให้การรวมธุรกิจอันก่อให้เกิดการลดการแข่งขัน อย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

วรรคสองบัญญัติให้การรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยให้ความหมายของการรวมธุรกิจไว้ในวรรคสี่ (1)-(3)

เกณฑ์การพิจารณาการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดการลดการแข่งขัน หรือเกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดเป็นไปตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนดสำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการ เงื่อนไขการอนุญาต การอนุญาตให้รวมธุรกิจเป็นไปตามที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนด

อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 4 บัญญัติวาพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การกระทำ ตามที่ระบุใน (1)-(4) โดย (4) ระบุถึงธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า

การป้องกันการผูกขาดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
ตามมาตรา 21 บัญญัติว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากจะต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการในเรื่องต่างฯตามที่กำหนดใน (1)-(5)

ปัจจุบันมีประกาศณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค. 2560 ออกใช้บังคับ กำหนดข้อปฏิบัติการรวมธุรกิจ กิจการโทรคมนาคมไว้ โดยสรุปคือ 

กำหนดความหมายของการรวมธุรกิจในข้อ 3 ซึ่งมี 3 ข้อ กำหนดหลักเกณฑ์การายงานงานการรวมธุรกิจ กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในกรณีที่ปรากฏว่า การรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง กสทช. อาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน   

ข้อพิจารณา การควบรวมการประกอบกิจการโทรคมนาคม หากก่อให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด จะอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าอันต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าหรือไม่

ความเห็น แม้พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2560 จะบัญญัติว่าไม่ใช้บังคับกับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า ซึ่งธุรกิจโทรคมนาคมมีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำกับดูแล แต่ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการคมนาคม พ.ศ. 2544  มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า

การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากจะต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการในเรื่องต่างฯตามที่กำหนดใน (1)-(5)

จากบทบัญญัติของมาตรา 21 ดังกล่าวอนุมานได้ว่า เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า การป้องกันการผูกขาดสำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันเป็นหลัก มาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ ตามมาตรา 21 เป็นมาตรการเสริม 

ข้อสรุป จากข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เห็นว่าในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมควบรวมธุรกิจกัน ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าเป็นหลัก หากการควบรวมธุรกิจอันก่อให้เกิดการลดการแข่งขัน อย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

และหากการรวมธุรกิจนั้นอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า