ขายผลิตผลทางออนไลน์ ชาวบ้านก็ทำได้ | สกล หาญสุทธิวารินทร์
กรมทะเบียนการค้าก่อตั้งขึ้น โดยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2466
หน้าที่รับผิดชอบคือ งานชั่งตวงวัด งานจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท งานประกันภัย งานเครื่องหมายการค้า งานสิทธิบัตร ต่อมามีการขยายและปรับปรุง และแบ่งส่วนราชการใหม่หลายครั้ง
มีงานในหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น คือ งานด้านการกำกับควบคุมการทำบัญชี การสอบบัญชี การกำกับควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การกำกับดูแลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงส่วนราชการ งานประกันภัยแตกลูกออกไปเป็นสำนักงานประกันภัย เป็นส่วนราชการระดับกรมในปี 2532 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมการประกันภัย
ในปี 2535 กรมทะเบียนการค้าก็แตกลูกอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการโอนงานด้านสิทธิบัตร และด้านเครื่องหมายการค้า ของกรมทะเบียนการค้า ไปรวมกับงานด้านลิขสิทธิ์ ของกรมศิลปากรจัดตั้งเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ปี 2545 มีการปรับปรุงระบบราชการครั้งใหญ่ กรมทะเบียนการค้าเปลี่ยนชื่อเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โอนงานชั่งตวงวัดไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการค้าภายใน โอนงานกำกับดูแลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมธุรกิจพลังงาน
กระทรวงพลังงาน รับหน้าที่งานจดทะเบียนและกำกับดูแลสมาคมการค้า และหอการค้า งานส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้ามาจากกรมการค้าภายใน และงานใหม่มากคือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
งานการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
เนื่องจากงานการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นงานใหม่ จึงมีการจัดตั้งกองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเป็นการภายใน เพื่อรับผิดชอบส่งเสริมสนับสนุนงานการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และในขณะนั้น ยังไม่มีกฎหมายในการกำกับดูแลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ออกบังคับใช้เป็นการเฉพาะ ต้องอาศัยกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
คือพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศ กำหนดให้ผู้ประกอบการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ประกาศที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่11) พ.ศ.2553
เหตุผลที่ต้องกำหนดเช่นนั้น เพราะการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการติดต่อซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการไม่ได้ติดต่อพบเห็นผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่หน้าร้านค้า หรือสถานที่ประกอบการของผู้ขายสินค้าหรือการบริการ ซึ่งไม่ได้เห็นหรือพบผู้ขายหรือผู้ให้บริการว่าเป็นผู้ใด อยู่ที่ไหน
การกำหนดให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการผ่านทางการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือการค้าทางออนไลน์มีความมั่นใจในระดับหนึ่ง เพราะการจดทะเบียนพาณิชย์เป็นหลักฐานเบื้องต้นยืนยันได้ว่าผู้ประกอบการมีตัวตนเป็นผู้ใดมีหลักแหล่งอยู่ที่ไหน
การจัดฝึกอบรมสัมมนาให้ความรู้การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ งานขั้นต่อไปของการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการหรือผู้จะเริ่มประกอบการ ตามหลักสูตรต่างฯที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอดช่วงระยะที่ผ่านมา
การกำหนดให้มีเครื่องหมายรับรอบสำหรับการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust mark)
งานที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยกองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการในขั้นต่อมาในการส่งเสริมสนับสนุนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือการกำหนดเครื่องหมายรับรองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้มากยิ่งขึ้น
เครื่องหมายรับรองมีสองแบบ แบบแรกคือเครื่องหมาย DBD Register เป็นเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ เป็นเครื่องหมายที่ได้รับจากการจดทะเบียนพาณิชย์ และได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อแสดงที่หน้าเว็บไซต์ แสดงว่าได้จดทะเบียนพาฯชย์แล้ว ยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการ
แบบที่สองเครื่องหมายรับรอง DBD verifiedเป็นเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น 3ระดับ คือเครื่องหมายรับรองDBD Verified Silver, เครื่องหมายรับรองBDB Verified Gold และเครื่องหมาย DBD Verified Platinum ผู้ประกอบการที่จะขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองแต่ละระดับ ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
เครื่องหมายรับรอง จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการของผู้ประกอบการนั้น และสามารถช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการของผู้ประกอบการนั้นได้อีกทางหนึ่ง ส่วนผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ ช่วยให้สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมายรับรองนั้นอย่างเชื่อมั่นได้
การส่งเสริมพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ชุมชนในชนบท
งาน การพัฒนาส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมพัฒนาธุรกิจขั้นต่อไปคือ การพัฒนาส่งเสริมให้ชุมชนในชนบทที่ด้อยโอกาสกว่าผู้ประกอบการในเมือง ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงแหล่งและข้อมูลการเรียนรู้ ให้สามารถเรียนรู้ เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการขายสินค้าทางออนไลน์
เพื่อให้สินค้าชาวบ้านก็สามารถขายทางออนไลน์ได้ โดยจัดทำโครงการ Digital village by DBD เพื่อพัฒนาสู่ต้นแบบชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ ด้วยการคัดเลือกชุมชนในชนบท ที่มีสินค้าชาวบ้านที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีลักษณะสามารถขายทางออนไลน์ได้
ให้เข้าร่วมในโครงการ Digital Village และจัดวิทยากรที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญการค้าทางออนไลน์ในเรื่องต่างฯ ไปให้ความรู้เพื่อพัฒนาให้เป็นชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ ให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถปรับตัวขายสินค้าผลิตผลของชุมชนนั้นทางออนไลน์ได้
ในปี 2565 มีโครงการคัดเลือกชุมชนเข้าร่วมในโครงการ Digital Village 20 ชุมชน สินค้าของแต่ละชุมชนที่น่าสนใจมีหลายรูปแบบ ทั้งผลผลิตทางเกษตร พืช สัตว์ หัตถกรรม
ไลฟ์สดขายสินค้า
ในปัจจุบันผู้ประกอบการขายสินค้าทางออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จเพิ่มยอดขายได้ นิยมใช้วิธีไลฟ์สดขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ขั้นต่อไปของโครงการ Digital Village คือการอบรมต่อยอดให้ผู้ประกอบการในชุมชน สามารถไลฟ์สด ขายสินค้าในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
โครงการ Digital Village จะเป็นการช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนในชนบท พลิกโอกาสจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าชาวบ้านในชุมชนทางออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง
ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายและเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนได้ ดังตัวอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวหญิงสาวชาวลาหู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ใช้โซเชียลมีเดียถ่ายทอดวิถีชีวิตชนเผ่า บุกเบิกทำตลาดออนไลน์ขายผลผลิตทางเกษตร ผลอะวาโด จนมียอดสั่งซื้อเกือบพันกิโลกรัมต่อเดือน.