บิดามารดาทอดทิ้งผู้เยาว์ควรต้องมีความรับผิดในทางอาญา | สุรินรัตน์ แก้วทอง
ตามที่ปรากฏข่าวน่าสลดใจที่เด็กมัธยมอายุเพียง 15 ปี ฆ่าตัวตายเนื่องจากถูกให้ออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ขณะที่บิดามารดาก็ไม่ได้ให้ความสนใจอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กจนโต จนนำไปสู่ความกดดันในการใช้ชีวิตและลงเอยด้วยการฆ่าตัวตายดังกล่าว
ในประเด็นดังกล่าวเมื่อมองจากมุมมองทางสังคมจะเห็นได้ว่า สังคมไทยตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันมีความเชื่อว่าบิดามารดามีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่ตามกฎหมายและหน้าที่ตามศีลธรรมจรรยา และในขณะเดียวกันเมื่อบุตรเติบโตขึ้นบุตรก็มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาเช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากลับพบสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการขาดตกบกพร่องในหน้าที่ของบิดามารดาอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากเหตุสลดใจข้างต้นแล้วก็ยังมีกรณีการละเลยหรือทอดทิ้งบุตรอีกมาก
จึงมีคำถามตามมาว่า บิดามารดามีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรมากน้อยเพียงใด และบิดามารดาควรมีความรับผิดหรือไม่หากการละเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของบุตร หรืออาจนำมาซึ่งการกระทำความผิดในทางอาญาต่อบุคคลอื่นของบุตรผู้เยาว์
ในประเด็นนี้เมื่อมองในแง่มุมของกฎหมายตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีการออกกฎหมายตราสามดวงลักษณะผัวเมียโดยบัญญัติว่า “ราษฎรทั้งหลายในแว่นแคว้นเสมามณฑลให้เลี้ยงดูลูกเมียพี่น้องพ้องพันธ์จงชอบโดยธรรม” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบิดามารดามีหน้าที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร
แนวคิดดังกล่าวได้รับการสืบทอดต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยมีการบัญญัติหน้าที่ของบิดามารดาไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 ที่กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร แต่อย่างไรก็ตาม หน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งเท่านั้น
ซึ่งนั่นหมายความว่าหากบิดามารดาไม่อุปการะเลี้ยงดูบุตรก็อาจจะนำมาซึ่งการถอนอำนาจปกครองเหนือบุตร หรือบุตรอาจใช้สิทธิบางประการในการเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง แต่ยังมีข้อจำกัดในการฟ้องคดีบิดามารดาทั้งในแง่ของข้อกฎหมายที่การฟ้องคดีบิดามารดาถือเป็นคดีอุทลุม และในแง่พฤตินัยที่การฟ้องคดีโดยผู้เยาว์หรือเรียกค่าเสียหายไม่สามารถทำได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ในแง่ของกฎหมายอาญานั้น ในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญายังไม่มีบทบัญญัติที่จะเอาผิดกับบิดามารดาที่ละเว้นหรืองดเว้นหน้าที่ในการดูแลบุตรผู้เยาว์ มีแต่เพียงบทบัญญัติที่จะเอาผิดในกรณีที่มีการกระทำการอันเป็นการทารุณโหดร้ายจนเป็นเหตุให้บุตรผู้เยาว์ฆ่าตัวตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 292
หรือเป็นกรณีที่จงใจละทิ้งบุตรผู้เยาว์ซึ่งอายุไม่เกิน 9 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 306 แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายอาญาไม่ได้มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดแก่บิดามารดาซึ่งทอดทิ้งบุตรผู้เยาว์ให้มีโทษในทางอาญาแต่อย่างใด
ในกรณีดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของบิดามารดาที่จะต้องอบรมดูแลเอาใจใส่และอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ โดยกำหนดไว้ในกฎหมายอาญาในส่วนข้อบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของบิดามารดาจากการละเว้นหน้าที่
ซึ่งเป็นการนำโทษในทางอาญาเข้ามาใช้เพื่อควบคุมและกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าบุตรผู้เยาว์จะไม่ถูกทอดทิ้ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องได้รับการดูแลจากบิดามารดาตามสมควร
เมื่อพิจารณากฎหมายของประเทศไทย จะเห็นได้ว่ายังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะเอาผิดทางอาญาแก่บิดามารดาจากการไม่ทำหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
ผู้เขียนจึงเห็นว่า กฎหมายไทยควรขยายหน้าที่ของบิดามารดาในการที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และหากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวก็ต้องรับโทษในทางอาญา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บิดามารดาทอดทิ้งหน้าที่ของตนจนเป็นเหตุให้บุตรผู้เยาว์ไปก่ออาชญากรรมต่อบุคคลอื่นหรือเป็นเหตุให้บุตรผู้เยาว์ฆ่าตัวตายเหมือนดังเช่นที่ปรากฏเป็นเหตุสลดใจข้างต้น
อย่างไรก็ตาม การกำหนดโทษทางอาญาแก่บิดามารดาดังกล่าวควรจะต้องมีการลงโทษอย่างเหมาะสมด้วย เพราะหากเป็นโทษที่รุนแรงเกินไปหรือเป็นโทษที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ก็อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือทำให้ปัญหาการทอดทิ้งบุตรผู้เยาว์ของบิดามารดาไม่ได้รับการแก้ไข
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเข้ามาพิจารณาแนวทางที่รอบคอบและรัดกุมเพื่อให้ปัญหาการทอดทิ้งบุตรผู้เยาว์ซึ่งเกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันสามารถได้รับการแก้ไขได้อย่างตรงจุด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดความรุนแรงลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้บุตรผู้เยาว์ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศในอนาคตสามารถมีคุณภาพชีวิตและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ควรจะเป็น.