คนคุ้นเคย -ติดสุรายาเสพติด ก่อเกิดข่มขืนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
วช.ร่วมกับม.มหิดล เผยแผนงานวิจัย "ต้นแบบสร้างเครื่องมือ ป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียนและชุมชน แนะผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงล่วงละเมิดทางเพศ ขณะที่ 39.09% ของครูอาจารย์ มองว่าถูกล่วงละเมิดเกิดจากคนคุ้นเคย
“ความรุนแรงในสังคมไทย” ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่สามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกกลุ่มเพศและทุกวัย ดังนั้น การลดความรุนแรงในสังคมไทย จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญสำหรับการวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ทางสังคมให้กับคนไทยได้อย่างมั่นคงและสามารถนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
วันนี้ (3 พ.ค.2565)สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาเสนอผลการศึกษาต้อนแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ “บทบาทสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ต่อการสนับสนุนการวิจัยในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ว่า งานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 63 และขณะนี้ได้สำเร็จทำให้ได้แผนงานวิจัย ต้นแบบการสร้างเครื่องมือ ป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
วช.เป็นหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมมาโดยตลอด ดังนั้น แผนงานวิจัยดังกล่าว จะมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องกระทำชำเรา ความรุนแรงที่ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจำนวนมาก และต้องการแก้ไขในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง
“แผนงานวิจัยดังกล่าว เป็นโจทย์ความท้าทายที่นักวิจัยจะต้องสร้างเครื่องมือป้องกันการข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งในเชิงครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ซึ่งจะเป็นการศึกษาถึงต้นเหตุของประเด็นปัญหา ข้อกฎหมาย สถานการณ์ ข้อระเบียบต่างๆ รวมถึงการเสนอแนะนโยบาย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม ลดหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการช่วยเหลือสังคมและส่งเสริมให้ประเทศไทยมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และได้รับการดูแลที่ดีขึ้น”ดร.วิภารัตน์ กล่าว
- วช.หนุนแผนงานมิติสังคมไทยไร้ความรุนแรง-ลดการข่มขืน
ทั้งนี้ ในส่วนบทบาทของวช.ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้มีการสนับสนุนโครงสร้าง แผนงานต่างๆ หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการกระทำชำเรา โดยวช.ยังคงให้ความสำคัญในแผนงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในมิติด้านสังคม
ดร.วิภารัตน์ กล่าวต่อไปว่า วช.มีแผนงานสังคมไทยไร้ความรุนแรงในยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะ
โดยในปี 2563-2565 ได้มีงานวิจัยมิติด้านสังคม พบว่า มีงานวิจัยประมาณ 40 กว่าแผนงาน อาทิ แผนงานวิจัย การพัฒนาโปรแกรม “เด็กรุ่นใหม่ใจเย็นๆ” และการสร้างกลไกเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรง ทั้งในส่วนของกระทบวง ทบวง กรม และหน่วยงานภาคีต่างๆ เป็นต้น
สำหรับแผนงานในปี 2566-2570 เป็นการกำหนดทิศทางการสนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในการลดความรุนแรง และการกระทำชำเรา เพื่อช่วยค้นพบ องค์ความรู้ การใช้ประโยชน์ รวมถึงการเกิดนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการกำหนดนโบบายด้านการป้องกันและลดความรุนแรงความเสี่ยงด้านเพศ
- ต้นแบบเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืน
รศ.ดร.สุณีย์ กัลป์ยะจิตร ผู้จัดการแผนงาน กล่าวว่า ปัญหาการข่มขืน เป็นภัยคุมคามประชาชนเป็นระยะเวลานาน ยิ่งในปัจจุบันปัญหาได้ทวีความรุนแรง และสร้างความสะเทือนขวัญแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชน ซึ่งประเทศไทยได้มีการกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศ เป็นความผิดทางอาญา ที่กำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
ทั้งนี้ แผนงานวิจัย ต้นแบบการสร้างเครื่องมือ ป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ระดมความคิด เพื่อลดความเสี่ยง และปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการกระทำชำเรา
โดยจัดทำสื่อ สร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักรู้แก่คนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ในการกระทำทางเพศที่ไม่เหมาะสมและการปรับปรุงกฎหมายของไทย เป็นการเปรียบเทียบกฎหมายกระทำชำเรา ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อกำหนดกฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ อันนำมาสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
- เช็กสถานที่มักเกิดเหตุข่มขืนกระทำชำเรา
ทั้งนี้ สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงและการข่มขืนการกระทำชำเราใน ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน พบว่า จากการสำรวจครอบครัว พบว่าสถานที่มักเกิดเหตุข่มขืน จะเป็นบ้านตัวเอง บ้านเพื่อน บ้านญาติ สถานที่เปลี่ยว และโรงเรียน
โดยเครื่องมือในการป้องกันการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว ผ่านสื่อวีดีทัศน์ แอปพลิเคชั่น แผ่นพับความรู้ แก่ครอบครัว จะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง กับการล่วงละเมิดทางเพศ พ่อแม่ต้องมีความรู้ที่ทันสมัยทันต่อสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
พ่อแม่หรือผู้ปกครองถือเป็นเครื่องมือหลักในการป้องกัน การข่มขืนในครอบครัวและสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่เด็กในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในสังคม และการสอนให้ลูกปกป้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองและเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น
- การถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดจากคนคุ้ยเคย
ส่วนการสำรวจเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราในโรงเรียนนั้น พบว่า
- 43.49% ครูอาจารย์ไม่แน่ใจว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจากคนแปลกหรือคนคุ้ยเคยกันแน่
- 39.09% คิดว่าเป็นคนคุ้นเคย
- 17.42% คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการข่มขืนกระทำชำเรา ได้แก่
- อันดับ 1 ติดสุราและยาเสพติด (11.13%)
- อันดับ 2 การชมคลิปหรือเว็บไซต์ที่มีภาพลามกอนาจาร
สำหรับวิธีการจัดการเพื่อป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในโรงเรียน พบว่า มากกว่า 88% ที่โรงเรียนมีการวิธีการจัดการในเรื่องดังกล่าว ได้แก่
- มีการสอนเกี่ยวกับเพศศึกษา
- ทักษะการตัดสินใจ/ปลูกฝัง
- มีการกำหนดกฎระเบียบในโรงเรียนเพื่อป้องกันปัญหา
- มีมาตรการเฝ้าระวัง เช่น ตรวจตราอาคารสถานที่ หรือที่ลับตาคน
- มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างความเสมอภาคทางเพศ สร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิของตนเอง
ทั้งนี้ จากแผนงานวิจัย ต้นแบบเครื่องมือป้องกันการข่มขืนกระทำชำเราในโรงเรียน พบว่า ต้องมีการจัดให้มีการช่วยเหลือเบื้องต้น ส่งเสริมให้นักเรียนมีความฉลาดทางอารมณ์ ควรปลูกฝังค่านิยมทางเพศที่ถูกต้องแก่นักเรียน ควรจัดการปัญหา การคุมคามทางเพศออนไลน์
- ติดสุราและยาเสพติด สิ่งกระตุ้นก่อเหตุข่มขืน
ขณะที่ ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศแบบสุ่ม เกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราในกลุ่มของชุมชน พบว่า
สิ่งที่กระตุ้นที่ทำให้เกิดปัญหาการข่มขืน ได้แก่
- 14.0% การติดสุราและยาเสพติด
- 11.75% การชมคลิปและเว็บไซต์ที่มีภาพลามกอนาจาร
- 11.23 การเห็นผู้หญิงแต่งตัวโป๊
- 9.66% การอ่านหนังสือลามก
- 7.80% การมีความผิดปกติทางเพศ/ปัญหาด้านจิตเวช
พฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกข่มขืนกระทำเรา พบว่า
- 17.65% การแต่งกายที่มีการยั่วยุทางเพศ
- 16.11% การออกจากบ้านยามวิกาล
- 15.45% การติดสุราและยาเสพติด
- 12.06% เชื่อคนง่าย/คล้อยตามคนง่าย
- 11.78% การมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ
ดังนั้น เครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในชุมชน ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อลดจุดเปลี่ยวในชุมชน ไม่มีสถานที่อับทึบในชุมชน เพื่อลดอัตราการกระทำผิดทางเพศ ช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลายเพื่อป้องกันการมั่วสุมทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม
ควรจัดให้มีความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา ควรสร้างเครือข่ายครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา ควรจัดให้มีการใช้แอปพลิเคชั่นเสริม เพื่อการติดตามเด็กหายหรือเด็กที่ถูกลักพาตัว
- แนะควรลงทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศเมื่อพ้นโทษ
อย่างไรก็ตาม การข่มขืนกระทำชำเราในปัจจุบัน เกิดจากการพ่อแม่ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่จึงทำให้เด็กอาจถูกหลอกลวงผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียวที่อาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ ผู้สูงอายุและผู้พิการที่เป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ฉะนั้น เครื่องมือในการป้องกันการข่มขืนกระทำชำเรา ควรจะมีการลงทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ เมื่อพ้นโทษจากเรือนจำโดยออกกฎหมายรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความชอบธรรมในการติดตาม สอดส่องผู้กระทำผิดทางเพศป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
รวมถึงให้ผู้กระทำผิดทางเพศมารายงานตัวกับหน่วยงานกลาง ถึงหลักแหล่งที่อยู่อาศัย ยืนยันตัวตนหรือหากมีการย้ายถิ่นที่อยู่ให้มีการรายงานต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการแจ้งเตือนประชาชนทาง website โดยสาธารณะหรือแจ้งเพียงเจ้าหน้าที่รัฐส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นถึงที่อยู่ของผู้กระทำผิดทางเพศให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังหรือแจ้งให้ผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้กระทำผิดทางเพศเฝ้าระวังตนเองและบุตรหลานของตนเอง
- ปี64 เกิดปัญหาคดีข่มขืน 714 ราย
ด้านนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ เมื่อสังคมไทยปลอดภัยจาก(ภัย)ข่มขืน
โดยระบุว่า ในปี2564 มูลนิธิรับปัญหาคดีข่มขืน 714ราย ช่วงอายุที่ถูกข่มขืนมากที่สุด อันดับ 1 อายุ 14-15 ปี จำนวน 262 ราย อันดับ 2 อายุ 15-20 ปี จำนวน 182 ราย อายุ 5-10 ปี จำนวน 85 ราย
ที่น่าสังเกตคือผู้ก่อเหตุมักเป็นคนใกล้ชิด มีทั้งสามีภรรยา แฟน เพื่อน ญาติ คนรู้จัก พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ส่วนเหยื่อที่ถูกข่มขืน อนาจาร ทารุณกรรม ล่อลวง ก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
แต่ละคดีมีความยากง่ายต่างกัน บางครั้งกินเวลาหลายวันกว่าจะช่วยเหยื่อออกมาจากผู้ก่อเหตุ บางกรณีใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะตั้งต้นดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุได้ มีหลายกรณีที่แม้ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว ช่วยเหยื่อผู้เสียหายมาได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังต้องเยียวยาสภาพจิตใจกันอีกนาน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องช่วยบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจ รวมทั้งจัดหาอาหาร ที่อยู่อาศัย ดูแลจนกว่าจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตเองได้
"การแก้ไขปัญหาต้องร่วมกันดำเนินการ มูลนิธิปวีณาทำงานร่วมกับภาครัฐ ประชาชน และสื่อมวลชน ดังนั้นการป้องกันการข่มขืน ต้องเริ่มจากรัฐบาลที่มั่นคง ก่อนนำไปสู่การปฎิบัติ รวมไปถึงนโยบายของกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน"น.ส.ปวีณา กล่าว