การเพิ่มคุณค่าให้สินค้าพื้นบ้านบนโลกยุคใหม่ | พิกุล ศรีมหันต์

การเพิ่มคุณค่าให้สินค้าพื้นบ้านบนโลกยุคใหม่ | พิกุล ศรีมหันต์

อะไรจะช่วยยกระดับสินค้าพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ทั้งเพิ่มคุณค่า และมูลค่าและอยู่ในโลกยุคใหม่ได้? พบคำตอบได้จาก "แหนมดอนเมือง"

“แหนมดอนเมือง” เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี เริ่มธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย เดิมเป็นคนสุพรรณบุรี ได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และมีหลานเขยเป็นทหารอากาศ 

ด้วยความที่คุณยายมีฝีมือในการทำอาหาร จึงได้ทำแหนมขายในกองทัพ รสชาติถูกปากจนผู้คนในกองทัพพากันอุดหนุนไม่ขาดสาย จากแค่การซื้อบริโภคด้วยตนเอง ก็เริ่มมีการซื้อฝากกลายเป็นของฝากจากคนที่เดินทางจากกองทัพเป็นที่รู้จัก

จนเริ่มมีการส่งขายในตลาดสดและมีหน้าร้านค้าต่างๆ มาขอติดต่อเพื่อนำไปจำหน่าย กลายเป็นการเติบโตแบบออร์แกนิกจากปากต่อปาก

แม้จะไม่เคยมีการตั้งชื่อร้านมาก่อน แต่ก็เป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าว่า “แหนมดอนเมือง กม.26” ซึ่งลูกค้าเรียกตามที่ตั้งของร้าน พอธุรกิจเริ่มเติบโตจากทำแหนมกันเองที่บ้านก็ขยายมาเป็นโรงงานเล็ก ๆ และกลายมาเป็นโรงงานเอสเอ็มอีเต็มรูปแบบอย่างในปัจจุบัน

จากการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมมาตลอด เมื่อถึงยุคของ คุณภาคภูมิ หอมสุวรรณ ซีอีโอของบริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้รับช่วงต่อในการดูแล “แหนมดอนเมือง กม.26” ตั้งแต่ปี 2547 มองเห็นโอกาสในการนำสินค้าเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อ จึงสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาชื่อ “สุทธิลักษณ์”

โดยเป็นแหนมแบรนด์แรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีการฉายรังสีมาประยุกต์ใช้เพื่อความปลอดภัย โดยการฉายรังสีช่วยลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และวางตำแหน่งทางการตลาดของแหนมสุทธิลักษณ์ให้มีความพรีเมียม ซึ่งแตกต่างจากแหนมดอนเมืองที่ขายความดั้งเดิม 

แม้ทั้ง 2 แบรนด์จะเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรดด้วยกันทั้งคู่ และเหมือนจะเป็นคู่แข่งกัน แต่สุดท้ายก็เป็นสินค้าจากบริษัทเดียวกัน และช่วยทำให้บริษัทกินส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น

ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัท อินโนฟู้ด จำกัด มาจากการขายในโมเดิร์นเทรด 70% จากการขายแบบดั้งเดิม 20% (จากเดิม 100%) และมีการรับผลิต OEM และสำหรับตลาด HORECA (ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยง) อีกด้วย

การเพิ่มคุณค่าให้สินค้าพื้นบ้านบนโลกยุคใหม่ | พิกุล ศรีมหันต์

นอกจากการใช้ช่องทางการขายในโมเดิร์นเทรดที่ทำให้แหนมที่เป็นสินค้าพื้นบ้าน สามารถอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้แล้ว จุดเด่นของบริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสินค้า

คุณภาคภูมิใช้จุลินทรีย์คัดสายพันธุ์เฉพาะเพื่อใช้ในการหมักแหนมให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด มีการตั้งแล็บของตัวเองโดยเฉพาะ เพื่อหา Know-how มาพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา ไปไกลถึงขนาดไม่จำเป็นต้องนำเข้าจุลินทรีย์จากต่างประเทศแบบแบรนด์อื่น แต่วิจัยจนได้จุลินทรีย์ในประเทศที่ทำให้รสชาติและคุณภาพของแหนมออกมาดีอย่างที่ต้องการ

เมื่อนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาบวกกับรสชาติแหนมแบบดั้งเดิมสูตรคุณยาย แหนมดอนเมือง กม.26 และสุทธิลักษณ์ในรุ่นที่ 3 จึงยิ่งเติบโตกว่าเดิม น่าภูมิใจยิ่งกว่านั้นคือ เป็นการยกระดับอาหารพื้นบ้านให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งความรู้เช่นนี้สามารถนำไปต่อยอดให้อาหารพื้นบ้านอื่นๆ อย่างการทำปูดองที่ต้องใช้จุลินทรีย์เป็นส่วนประกอบได้อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น คุณภาคภูมิยังพัฒนาประสบการณ์การกินแหนมของลูกค้าให้ดีขึ้น เช่น การทำแหนมแบบหั่นสไลซ์ให้เรียบร้อย หรือแหนมตุ้มจิ๋ว ที่แต่เดิมใช้วิธีการทำแบบแฮนด์เมด ใช้หนังยางมัดเป็นคำๆ เวลารับประทานต้องแกะหนังยาง บีบเข้าปากเพื่อรับประทาน ทำให้เปื้อนมือ

การเพิ่มคุณค่าให้สินค้าพื้นบ้านบนโลกยุคใหม่ | พิกุล ศรีมหันต์

โจทย์คือแรงงานและการทำให้ถูกสุขลักษณะอนามัย จึงออกแบบแพ็คเกจจิ้งใหม่ ซึ่งเรียกใหม่เป็นแหนมป้อมที่ฉีกเข้าปากได้เลย ให้ประสบการณ์คล้ายกับที่ต้องแกะหนังยางแต่สะอาดกว่าเดิม และยังสามารถรับประทานได้เป็นคำๆ เหมือนเดิม มีสุขลักษณะที่ดีและความสะดวกสบายของลูกค้า

ทั้งนี้ การพัฒนาในส่วนต่างๆ ของธุรกิจก็มาจากความเชื่อของคุณภาคภูมิในเรื่องของการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ก็มาจาก consumer research ด้วยเช่นกัน

สำหรับการปรับตัวธุรกิจในช่วงโควิด-19 ช่วงแรกตัวธุรกิจเองได้อานิสงส์เชิงบวก เพราะคนพยายามกักตุนสินค้าแต่พอในช่วงปลายปี ต้องปิดโรงงาน เพราะสถานการณ์โควิด ด้วยความที่แหนมเป็นอาหารหมัก หากต้องเริ่มการผลิตใหม่แต่ละครั้ง จะทำให้การขายล่าช้าเพราะต้องใช้เวลาเป็นเดือน ซึ่งสามารถจัดการด้วยแพลนเรื่องวัตถุดิบและสต็อกสินค้า 

การเพิ่มคุณค่าให้สินค้าพื้นบ้านบนโลกยุคใหม่ | พิกุล ศรีมหันต์

ด้วยความที่มีที่พักกับพนักงงานในโรงงานจึงดูแลพนักงานไม่ยาก ประกอบกับมีการควบคุมพิเศษในการเข้าออกโรงงาน จึงเบาใจและสามารถให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการดูแลยอดขาย โดยเน้นโปรโมชั่นและการปรับเปลี่ยนในอนาคต เช่น เรื่องของราคาเท่าเดิมแต่ขนาดของสินค้าให้เล็กลง เมื่อเกิดวิกฤติในเรื่องของราคาการผลิต 

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคยังรับได้อยู่ บวกกับจำนวนช่องทางการขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเติบโตขึ้นมากจากปีที่แล้วโดยใช้อีคอมเมิร์ซต่างๆ ที่เป็นแพลตฟอร์มสำเร็จอยู่แล้วบวกกับการยิงโฆษณาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพิ่ม

ทั้งการรักษาสูตรเดิมที่อร่อยอยู่แล้ว มาบวกกับการพาตัวเองไปอยู่ในช่องทางการขายตามยุคสมัย ใช้เทคโนโลยีและสร้าง Know-how เป็นของตัวเอง และคอยพัฒนาให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากแบรนด์อยู่เสมอ ทำให้สินค้าพื้นบ้านดั้งเดิมสามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าได้ในโลกยุคใหม่.