'สทน.' พลิกวิกฤติ ยกระดับนวันกรรมอาหารพื้นถิ่น ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี

'สทน.' พลิกวิกฤติ ยกระดับนวันกรรมอาหารพื้นถิ่น ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี

สทน.จับมือ มรภ. สร้างโอกาสในวิกฤติ จัดสัมมนาออนไลน์ หนุนช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ยกระดับ “อาหารพื้นถิ่น” สู่สากล ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จับมือ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จัดสัมมนาออนไลน์ “พัฒนาอาหารพื้นถิ่น สู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี” หวังติวเข้มผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มอาหาร ต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ได้ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี 

162788188411

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. เปิดเผยว่า สทน. เป็นสถาบันชั้นนำในการวิจัย สร้างนวัตกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและยกระดับสังคม ด้านอาหารปลอดภัย ด้วยการฉายรังสีผลิตผลการเกษตร และอาหารแปรรูปชนิดอื่นๆ ในเชิงพาณิชย์ได้ครบทุกชนิดของรังสีที่องค์การอนามัยโลกได้อนุญาตให้ใช้กับอาหาร คือรังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ และรังสีอิเล็กตรอน

ฉะนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะพี่น้องชาว OTOP กลุ่มอาหารพื้นถิ่น ให้สามารถผลิตสินค้าและต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค สทน.จึงได้ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ประกอบด้วย มรภ.พระนครศรีอยุธยา มรภ.ธนบุรี และมรภ.ราชนครินทร์ จัดสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “พัฒนาอาหารพื้นถิ่น สู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี”

ภายใต้กิจกรรมเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร ปี 2564 ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ อาหารพื้นถิ่นและต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหารฉายรังสี ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่ม ชมรม สมาคมและสถาบันการศึกษา

“จากวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การที่ประชาชนหันมาใส่ใจสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า OTOP ให้ได้มาตรฐาน ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี นอกจากจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ กลุ่ม “อาหารพื้นถิ่น” แล้ว ผู้บริโภคก็จะได้บริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัย ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีการฉายรังสีอาหารลงสู่ชุมชน เพื่อสร้างการยอมรับและแก้ไขปัญหาๆ ให้แก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม”ผู้อำนวยการ สทน.กล่าว

162788200572

สำหรับกิจกรรมภายในงานทั้ง 3 ครั้ง อัดแน่นครบรสทั้งสาระและความบันเทิง ประกอบด้วย การบรรยาย “ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านอาหารฉายรังสี” โดยคุณกาญจนา ชาหอม นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ จาก สทน. หัวข้อ “การเพิ่มมูลค่าของอาหารถิ่น” โดย ผศ.ดร.พิทยา ใจคำ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.พระนครศรีอยุธยา  คุณศศิอาภา บุญคง ประธานหลักสูตร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มรภ.ธนบุรี  และ ดร.นรากร ศรีสุข รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มรภ.ราชนครินทร์ 

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายในหัวข้อ “การตลาดออนไลน์” โดยเหล่ากูรูนักการตลาดดิจิทัล ที่จะมาช่วยแนะนำเทคนิคการเข้าถึงผู้บริโภคในยุคโควิด ให้กับผู้เข้าชมกิจกรรมออนไลน์ด้วย 

การสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ ยังได้เชิญผู้ประกอบการตัวจริงที่ประสบความสำเร็จด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสี มาร่วมพูดคุย พร้อมตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นมาตรวจวิเคราะห์เพื่อฉายรังสี ในการเสวนาหัวข้อ “พัฒนาอาหารพื้นถิ่น สู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี” โดย คุณนฤมล เนรมิตมานสุข หัวหน้าฝ่ายตรวจวิเคราะห์ จาก สทน. / คุณพรเทพ เทพเสนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ “แหนมตุ้มจิ๋ว” ตราสุทธิลักษณ์ / คุณวสันต์ กอบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคร์ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ฉัยลัย ปูไข่ดองฉายรังสี” / คุณณัฐวุฒิ อนันตสุคนธ์ บริษัท พี โอ เค อิมปอร์ต แอนด์ เอ๊กซ์ปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด / คุณศุภชัย กิมชูวาณิช บริษัท โชคชัย เฮิร์บ จำกัด นอกจากนี้ยังได้เชิญเหล่าคนดังผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาร่วมพูดคุยในแต่ละวันด้วย ได้แก่ คุณอินท์ชลิตา ผุลลาภิวัฒน์ พิธีกรรายการ ชีพจรลงพุง ช่องอมรินทร์ทีวี เชฟเอิร์ท คุณศริตวรรธน์ วันวิชิตกูร  คุณตุ๊ก ชนกวนันท์ รักชีพ  4 -6 สิงหาคม นี้ ทาง Facebook Live Fanpage ของ สทน. ตั้งแต่เวลา 09.00 – 13.30 น.

Link Facebook : https://www.facebook.com/thai.nuclear