การพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ถูกคาดหวังให้เป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และภาพรวมของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดประการหนึ่งของการขับเคลื่อนจังหวัดเหล่านี้คือ จำนวนและคุณภาพของแรงงานมีไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
นอกจากนี้แล้ว การที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนทำให้ทักษะที่แรงงานมีเสื่อมค่าอย่างรวดเร็ว จนส่งผลต่อผลิตภาพของแรงงานลดลง ยังเป็นอีกประเด็นที่มีความท้าทายสำหรับการวางแผนกำลังคนในระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในทุกระดับ
การพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ประสบความสำเร็จควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. การสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในระยะยาวตลอดชีวิต โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เชิงลึกเฉพาะบุคคลด้วยการปฏิบัติจริงเพื่อสร้างความสามารถด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยี มีพุทธิพิสัย มีการเข้าใจตนเอง และสามารถทำงานรวมกับผู้อื่นได้
สำหรับช่วงวัยทำงานและวัยเกษียณ การจัดการเรียนรู้ควรมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนซึ่งมีภาระด้านการงานและครอบครัว
การจัดการเรียนรู้จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกหัวข้อ เนื้อหา และแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับตนเอง ตามวัตถุประสงค์ของผู้เรียนว่าต้องการเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะเดิม หรือเรียนรู้ทักษะใหม่
ภาพถ่ายโดย Kateryna Babaieva
2. ควรพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัยที่ปรับตัวได้เร็วและมีความคล่องตัวสูง (Adaptive and agile learning ecosystem) โดยมุ่งเป้าไปที่กำลังแรงงานเป็นหลัก ด้วยการออกแบบหลักสูตรระยะสั้นเฉพาะเรื่องให้สอดคล้องกับทักษะเดิมของแรงงาน
เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่ทักษะระดับสูงขึ้น รวมถึงการสร้างทักษะใหม่มาทดแทนทักษะเดิมที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
โดยหลักสูตรต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพของตลาดแรงงานและแนวโน้มในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังต้องมีระบบรับรองคุณวุฒิทักษะ เพื่อให้แรงงานสามารถนำไปใช้ในการหางาน หรือเลื่อนขั้นการทำงานได้ด้วย รวมถึงการจัดทำธนาคารเครดิตเพื่อให้แรงงานสามารถสะสมผลการเรียนรู้ไปใช้ประกอบการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นต่อไป
3. การพัฒนาความสามารถของพื้นที่ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน โดยใช้ข้อมูลมหัตและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนผลิตแรงงานของผู้บริหารหน่วยงาน
ทั้งยังช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนด้านการพัฒนาทักษะของแรงงานในสถานประกอบการ เพื่อรับมือสภาพการจ้างงานในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภาพแรงงานให้สอดคล้องกับแนวโน้มการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ภาพถ่ายโดย Jimmy Chan
4. การพัฒนาผลิตภาพแรงงานในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ควรจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการในการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในจังหวัดที่จะช่วยกำหนดแนวทางในการทำงานเชิงบูรณาการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจน สามารถนำไปใช้ได้จริง
เพื่อกำหนดประเภทของแรงงานที่ต้องการพัฒนา ว่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบการกับการสร้างแรงงานที่มีความสามารถในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเองได้ในระดับใด
ต้องใช้อุปกรณ์และการสนับสนุนทรัพยากรในด้านใดบ้าง เพื่อให้แรงงานมีทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในตลาดแรงงาน
ซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจนในการจัดสรรและระดมทรัพยากรและบุคลากรในพื้นที่มาใช้ในการพัฒนาผลิตภาพแรงงานของพื้นที่ ทั้งยังช่วยให้การติดตามและประเมินผลความสำเร็จมีความครบถ้วนชัดเจน
5. ความสำเร็จของการยกระดับผลิตภาพของแรงงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพียงอย่างเดียว ความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดอีกด้วย
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดการระบาดของโควิด โครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
ระบบเศรษฐกิจที่ไม่สามารถสร้างโอกาสให้แก่แรงงานได้ ทำให้แรงงานทักษะระดับสูงอพยพออกจากจังหวัดเพื่อไปหาโอกาสในจังหวัดอื่นที่มีความเจริญกว่า การป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นต้องยกระดับผลิตภาพแรงงาน จึงต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาจังหวัด
โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการจัดทำแผนที่นำทางร่วมระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนากำลังคนที่มีเป้าในการพัฒนาชัดเจน จนนำไปสู่การกำหนดกรอบในการพัฒนากำลังคนที่เหมาะสมได้
เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอาจใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 ถึง 5 ปีกว่าจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ได้ ในระหว่างการฟื้นตัวนี้ ธุรกิจและตลาดแรงงานมีการพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว การยกระดับผลิตภาพแรงงานในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่รอต่อไปอีกไม่ได้เช่นกัน
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD)
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์