"อาวุธนิวเคลียร์" ตัวเลขบางตัวน่ากลัวมาก | ไสว บุญมา
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งกรุงสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI) พิมพ์รายงานล่าสุดออกมา
รายงานนั้นมีตัวเลขและแนวโน้มเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ที่มีความน่าใส่ใจ กล่าวคือ หลังจากมีแนวโน้มมากว่า 30 ปีจากวันที่สงครามเย็นยุติว่าจำนวนอาวุธนิวเคลียร์กำลังลดลง ณ วันนี้ ตัวเลขบ่งชี้ว่าอาวุธมหาประลัยนี้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและจะเป็นเช่นนี้ต่อไป
รายงานบ่งว่า สองอภิมหาอำนาจที่เป็นคู่อริกันมีอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุด นั่นคือ รัสเซียมี 4,477 ลูก หรือหัวรบ และสหรัฐมี 3,708 สองประเทศนี้เคยมีมากกว่านั้นมาก่อน แต่ลดจำนวนลงมาตามสัญญาที่ทำกันหลังสงครามเย็นยุติ ตัวเลขที่แตกต่างกันนี้อาจทำให้มีผู้คิดว่า สหรัฐจะสู้รัสเซียไม่ได้ในกรณีที่เกิดสงครามระหว่างอภิมหาอำนาจ
แต่นั่นจะเป็นการคิดที่ผิดถนัดเนื่องจากคู่นี้สามารถทำลายกันอย่างราบคาบได้โดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่กี่สิบลูก ทั้งนี้เพราะแต่ละลูกมีอานุภาพสูงกว่าอาวุธที่ใช้ทำลายเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิเมื่อปี 2488 หลายเท่า ความสามารถที่จะทำลายกันอย่างราบคาบได้นี้คือแรงจูงใจที่ทำให้ทั้งสองไม่กล้าท้ากันรบ
นอกจากคู่นั้นแล้ว รายงานบ่งว่า จีนมี 350 หัวรบตามด้วยฝรั่งเศส 290 และสหราชอาณาจักร 180 จีนเป็นประเทศที่ผลิตอาวุธชนิดนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด นั่นคือ เพิ่มจากจำนวน 145 เมื่อปี 2549 ทางด้านปากีสถานและอินเดียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ขัดแย้งกันสูงมี 165 และ 160 ตามลำดับ
ส่วนอิสราเอลซึ่งไม่ได้ประกาศออกมาว่าตนมีอาวุธมหาประลัยนี้ รายงานคาดการณ์ว่ามีจำนวน 90 สำหรับเกาหลีเหนือซึ่งเป็นน้องใหม่ในด้านการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ รายงานมิได้คาดการณ์ว่าผลิตอาวุธแล้วเท่าไร เพียงแต่บ่งว่าน่าจะมีส่วนประกอบที่สามารถใช้ผลิตได้จำนวน 55 ลูก
รายงานนี้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้หลายประเทศจะมิได้ผลิตหัวรบมากขึ้น แต่ก็ยังทำการวิจัยและพัฒนาต่อไปซึ่งจะยังผลให้สร้างอาวุธที่มีอานุภาพสูงกว่าจำพวกที่มีอยู่แล้วเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น ความขัดแย้งที่แสดงอาการออกมาในรูปของสงครามยูเครนเป็นสัญญาณของการเกิดสงครามเย็นอีกครั้ง ซึ่งจะกระตุ้นให้คู่ขัดแย้งผลิตอาวุธเพิ่มขึ้นพร้อมกับเปิดโอกาสที่จะใช้อาวุธร้ายนี้ในสนามรบจริงเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากใช้แต่เฉพาะในการทดลองในช่วงหลังปี 2488
ประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ เช่น ญี่ปุ่น อาจตัดสินใจผลิตก็ได้เพราะมองว่าตนกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากเพื่อนบ้านเช่นจีนและเกาหลีเหนือ
ย่อมเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าอาวุธเหล่านี้มีต้นทุนทางด้านการใช้ทรัพยากรสูงมาก นอกจากตัวของมันเองแล้วยังต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์และเครื่องมือที่ส่งมันไปยังเป้าหมายอีกด้วยไม่ว่าจะเป็นในรูปของขีปนาวุธ เครื่องบิน หรือเรือดำน้ำ ประเทศเหล่านี้จึงต้องมีงบประมาณใช้จ่ายมากมายในแต่ละปี
เช่น เมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐใช้งบประมาณทหารกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ ตามด้วยจีนเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนรัสเซียใช้งบเกือบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ น้อยกว่าอินเดียซึ่งใช้ไปเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์
โดยทั่วไป การใช้จ่ายด้านนี้ไม่มีลด มีแต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมทุกประเทศทั่วโลกเข้าด้วยกัน SIPRI ประเมินว่า งบประมาณทหารทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา
ตัวเลขนั้นชี้ว่าชาวโลกใช้งบประมาณทหารราว 4 เท่าของผลผลิตของชาวไทยในรอบปี เงินจำนวนนี้แม้เพียงครึ่งเดียวคงจะใช้ทำอะไรต่อมิอะไรที่ให้ผลในด้านการแก้ปัญหาของชาวโลกได้อย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจะเป็นด้านการลดความอดอยากหิวโหย การป้องกันและรักษาความเจ็บป่วยด้วยโรคระบาด หรือการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในระดับเพียงพอ แต่เพราะอะไรมนุษย์เราจึงไม่ทำสิ่งที่ดูจะประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่าน่าจะทำ?
ในปัจจุบันนี้มีประเทศเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ประเทศโดยเฉพาะที่เป็นเกาะเท่านั้นที่ไม่มีกองทัพกับงบประมาณทหาร เช่น โดมินิกา กรานาดาและซามัว นั่นหมายความว่าประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรเป็นสิบ เป็นร้อยและเป็นพันล้านเท่านั้นที่พร้อมจะทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันใช่ไหม?.