PPP Plastics ผนึกกำลังแก้ขยะพลาสติก | ภิญญดา เจริญสิน

PPP Plastics ผนึกกำลังแก้ขยะพลาสติก | ภิญญดา เจริญสิน

สถานการณ์ “ขยะพลาสติก” ถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกในปัจจุบัน

หากไม่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกภายในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ จะส่งผลทำให้มีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมากถึง 700 ล้านตัน

ขยะพลาสติกที่เกิดการหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงห่วงโซ่อาหารและชีวิตมนุษย์ จากรายงานการวิจัยหลายเรื่องได้บ่งชี้ว่ามีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์ จากการบริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก

สำหรับประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาเคยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศต้นๆ ที่สร้างขยะพลาสติกต่อประชากรมากที่สุดในโลก แต่ในปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถปรับลดจากอันดับที่ 6 ของโลกกลายมาเป็นอันดับที่ 10 ได้เป็นผลสำเร็จ 

ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนคนไทย ในการดำเนินงานผ่านมาตรการต่างๆ และการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามวาระแห่งชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจร ก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียว

 

PPP Plastics ผนึกกำลังแก้ขยะพลาสติก | ภิญญดา เจริญสิน

PPP Plastics

 

ที่ผ่านมา องค์กรภาคธุรกิจไทยได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ทั้งในเชิงระดับนโยบายและการปฏิบัติผ่านการดำเนินงานภายใต้ "โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics" ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา 

ปัจจุบันนี้ PPP Plastics ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ภายใต้การนำขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่เป็นผู้นำด้านการกำหนดนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลาสติกของประเทศไทยจำนวน 42 องค์กร 

เพื่อร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570

 

PPP Plastics ผนึกกำลังแก้ขยะพลาสติก | ภิญญดา เจริญสิน

บทบาท PPP Plastics

 

บทบาท PPP Plastics กับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ผ่านการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และจะดำเนินการถอดบทเรียนที่ได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

เริ่มตั้งแต่การสร้างต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการสร้างต้นแบบการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางและครอบคลุมเรื่องระบบและนวัตกรรม ที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน 

เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ต่อยอดและขยายผลในระดับประเทศได้ ผ่านโครงการนำร่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบการบริหารจัดการขยะให้กับชุมชนเมืองอื่นๆ ได้ทั่วประเทศ และ จ.ระยอง เพื่อมุ่งสร้างระยองให้เป็นต้นแบบจังหวัดที่มีการจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน

การพัฒนานโยบายและกฎหมาย ได้ร่วมเป็นคณะทำงานทั้ง 3 ชุดภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อร่วมกำหนดมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติก 

อีกทั้งได้จัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศไทย ตามแนวคิด Material Flow Analysis สำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญของประเทศที่หน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการจัดการขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการนำเสนอในระดับนานาชาติได้

PPP Plastics ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตร Circular Economy สำหรับอุดมศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 พร้อมทั้งการพัฒนานวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ได้มีการดำเนินงานโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการทำถนนของประเทศไทยที่แข็งแรง และตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้ PPP Plastics ยังจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ขับเคลื่อน และสนับสนุนการนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของการเป็นผู้นำในองค์กรภาคธุรกิจไทยด้านความยั่งยืน อันเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของสังคมไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนด้วยดีจากองค์กรภาคีเครือข่าย นับว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้ PPP Plastics สามารถเข้าไปมีบทบาทในการผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งในระดับเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นการแสดงออกถึงพลังความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศ

ในอนาคตหากประเทศไทยสามารถบูรณาการพัฒนาระบบจัดการพลาสติก และหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถลดการใช้ทรัพยากร ลดปัญหามลพิษควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป