รำลึกถึงครูสุนทรภู่และอดัม สมิธ | ไสว บุญมา
ในช่วงนี้ สถาบันการศึกษาทั่วเมืองไทยจัดพิธีไหว้ครูกันอีกครั้ง คงเป็นที่ทราบกันดี ประเพณีไหว้ครูมีอยู่ในสังคมไทยก่อนเกิดการจัดการศึกษาแบบในสถาบันจากชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย
ประเพณีนี้สะท้อนการให้ความสำคัญแก่ครู อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีการคิดต่างและโต้แย้งกันทั้งในด้านการสืบสานประเพณีและวิธีแสดงออก เช่น การหมอบกราบ
การคิดต่างและการโต้แย้งกันนั้นดีแน่ แต่เนื้อหาดูจะมาจากทั้งฝ่ายที่มีเจตนาดีและฝ่ายที่หลงประเด็น ด้วยเหตุนี้ การโต้แย้งกันคงดำเนินต่อไปแบบหาข้อสรุปได้ยาก นอกจากนั้น หากพิจารณาเรื่องการรวม หรือไม่รวมใครไว้ใน “ครู” ความคิดต่างและโต้แย้งกันคงจะขยายออกไปอีก ทั้งนี้เพราะพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามครูว่า “ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์” แต่ อ.เปลื้อง ณ นคร ให้นิยามครูว่า “ผู้มีความหนักแน่น ผู้ควรแก่การเคารพของศิษย์ ผู้สั่งสอน”
ตามนิยามดังกล่าว สุนทรภู่ กวีเอกของไทยที่ได้รับการยกย่องถึงระดับโลกจะเป็นครูด้วยหรือไม่ยังเป็นปริศนา กระนั้นก็ตาม โดยทั่วไปนักกลอนไทยเทิดท่านให้เป็นครู และมักทำกิจกรรมหรือรำลึกถึงท่านในวันที่ 26 มิ.ย. อันเป็นวันครบรอบวันเกิดของท่าน หรือ “วันสุนทรภู่” ในฐานะนักกลอนสมัครเล่นพร้อมกับเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาชีพ
ผมเทิดสุนทรภู่ และอดัม สมิธ เป็นครู ทั้งที่ทั้งสองได้จากโลกไปก่อนผมเกิดนับร้อยปีโดยมิได้ตั้งตัวเป็นครูที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการเขียนกลอน และด้านเศรษฐศาสตร์โดยตรง นอกจากผ่านผลงานด้านกลอนและหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
อนึ่ง การแสดงความเคารพเทิดทูนครูในปัจจุบันผ่านการจัดพิธี และใช้วิธีไหนในการแสดงออกนั้นมีความสำคัญด้านการรักษาประเพณี แต่ไม่น่าจะมีความสำคัญด้านการทำงานกับการวางตัวของครูและของศิษย์ที่เข้าใจในบทบาทของตนเอง
ขอยกตัวอย่างด้านการแย้งครู ซึ่งมักถูกกล่าวหาว่าลบหลู่จึงไม่ควรทำ เมื่อมีผู้หาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยอ้างบทกลอนของสุนทรภู่ในเรื่องพระอภัยมณี ตอน ฤๅษีสอนสุดสาครว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ผมมักแย้งทันทีว่านั่นเป็นคำสอนที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สมบูรณ์ ใครนำไปใช้แบบไม่ลืมหูลืมตาอาจละเมิดทั้งจรรยาบรรณและคุณธรรม
เช่น ในยุคนี้ มีการประณามพฤติกรรมของอดีตนายทหารซึ่งทิ้งผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไว้ในสนามรบ ในขณะที่ตนหลบหนีเอาตัวรอด ผมเชื่อว่าถ้าสุนทรภู่ยังอยู่ ท่านจะไม่มองว่าผมเป็นศิษย์ที่ลบหลู่ท่าน หากมองว่าเป็นบทบาทที่ถูกต้องของศิษย์ นอกจากนั้น ท่านคงจะอธิบายความหมาย รวมทั้งการนำไปใช้ไม่ได้ในทุกสถานการณ์ของกลอนวรรคนั้น
ด้านเศรษฐศาสตร์ ในหนังสือเรื่อง The Wealth of Nations ซึ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2319 อดัม สมิธ อ้างถึงการ “แบ่งงานกันทำ” (division of labor) ว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญของการเพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยในการยกระดับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หนังสือเล่มนั้นมักถูกยกให้เป็นปฐมตำราของวิชาเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรี หลังเวลาผ่านไปกว่า 200 ปี ผมมองว่าแนวคิดนี้มีข้อจำกัด ทั้งนี้เพราะถ้าใช้ต่อไปแบบไม่ลืมหูลืมตามันจะสร้างปัญหาใหญ่หลวง
เช่น ในปัจจุบัน มีรายงานเรื่องการยึดหลักการแบ่งงานกันทำถึงขั้นตกขอบ กล่าวคือ บางคนทำอาหารไม่เป็นแม้แต่อย่างเดียว เมื่อต้องการรับประทานอาหารซึ่งทำง่ายจำพวกไข่ต้มก็ยังต้องอาศัยร้านสะดวกซื้อ ผมไม่ได้ลบหลู่อดัม สมิธ ที่พูดว่าแนวคิดของท่านมีข้อจำกัดและควรจะได้รับการปรับเปลี่ยน หรือต่อยอด
ผมแน่ใจว่าถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะเห็นด้วยกับการต่อยอดความรู้ในตำราของท่านด้วยการพิจารณาหาความสมดุลระหว่างการแบ่งงานกันทำกับการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศชาติ
การแสดงความเคารพครูโดยการจัดพิธีเป็นประเพณีที่มีความสำคัญด้านการแสดงความเป็นชาติ จึงควรรักษาไว้แต่ก็น่าจะปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โดยไม่ถูกคัดค้านจากครู ส่วนความรู้ การปรับเปลี่ยนและต่อยอดซึ่งเป็นบทบาทของศิษย์เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน หรือเกิดความรู้ใหม่จะต้องได้รับการยอมรับทั้งจากครูและจากผู้อื่น