เสนอสูตรยุติสงครามยูเครน-รัสเซีย (1) | วิกรม กรมดิษฐ์
เชื่อว่าตอนนี้หลายๆ คนกำลังประสบกับปัญหา และมีคำถามเรื่องของราคาน้ำมันแพง อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ราคาหุ้นต่างๆ อยู่ในทิศทางที่ไม่ค่อยดี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่ไปลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ก็ประสบภาวะขาดทุนอีกเป็นจำนวนมาก
เราคงจะต้องมองดูทิศทางของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและมองหาต้นเหตุของปัญหา เป็นที่แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมานี้มีผลต่อเนื่องมาจากภาวะสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
ถ้าเราจะวิเคราะห์กันถึงทางออกของปัญหา โดยส่วนตัวผมมองว่าหากสงครามยูเครน-รัสเซียนี้จบลงเมื่อใด สถานการณ์ทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดี และเคยมีผู้เสนอแผนสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนเอาไว้แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
ผมมองในรูปแบบแนวทางของผมว่า ทางออกของเรื่องนี้ที่จะจบลงแบบ All win ด้วยการพูดคุยกันในแง่ของให้ปูตินมีทางลงที่ดี
"โดยให้ยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ยอมเสียสละดินแดน 1 หรือ 2 เมือง เพื่อให้วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงจากหลังเสือได้ง่ายขึ้น"
ลดความรุนแรง และการเจรจากันมีข้อตกลงขอให้ยูเครน รวมถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ไม่มีการขยายอาณาเขตเข้าไปใกล้กรุงมอสโก
เมื่อถามถึงสาเหตุที่รัสเซียเข้าไปบุกยูเครนในครั้งนี้ เพราะว่าดินแดนของสหภาพโซเวียต เกิดการกลายพันธุ์เข้าไปอยู่ในเขตของนาโตทั้งหมด ทำให้สนธิสัญญาวอร์ซอหรือสนธิสัญญาแห่งมิตรไมตรีจางหายไป หากเกิดการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากฝั่งตรงข้าม มีการกดปุ่มเพียง 5 นาทีก็สามารถโจมตีไปได้ถึงมอสโกอย่างง่ายดาย
ถ้ามองกันเรื่องของยุทธศาสตร์ กรุงมอสโกถือว่าเป็นหัวใจของรัสเซีย แม้ว่าหลายคนจะมองว่ารัสเซียมีพื้นที่ที่ใหญ่มาก มีพื้นที่ถึง 17 ล้านตารางกิโลเมตร แต่กรุงมอสโกถือว่าเป็นหัวใจ
หากเรามองกันที่เหตุนี้ก็คงเป็นเรื่องของเจ้าของบ้านที่พยายามปกป้องหัวใจของตัวเอง และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเอง ก็มองว่าตนเองจะไม่แพ้สงครามในครั้งนี้
หากสงครามนี้ยืดเยื้อยาวนานจนถึงสิ้นปี ในฐานะนักธุรกิจ ก็ต้องมีการคิดและวางแผนรับมือกับเรื่องนี้เช่นกัน สิ่งที่นักธุรกิจรวมถึงทุกๆ คนต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพราะต้นทุนสูงขึ้น และต้นทุนก็มาจากราคาน้ำมัน เพราะว่าการผลิตพลังงานทดแทนในบ้านเรายังไม่สามารถทำได้เพียงพอต่อจำนวนความต้องการ
วันนี้เรื่องของพลังงาน ผมคิดว่าพลังงานที่ถูกใช้อยู่ในการผลิตไฟฟ้า 70% มาจากแก๊สธรรมชาติ และในแต่ละวันมีการใช้โรงกลั่นเพื่อผลิตน้ำมันที่ใช้อยู่ตามสถานีต่างๆ 1 วันอยู่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรล
เพราะฉะนั้น ต้นทุนของเราใช้ทั้งค่าน้ำมัน แก๊ส และไฟฟ้าที่สูงขึ้น แน่นอนว่าต้นทุนค่าครองชีพก็สูงขึ้นตามมาด้วย ประกอบกับประเทศไทยของเรายังไม่พ้นวิกฤติโควิด-19 ด้วย ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลก็พยายามที่จะส่งเสริมและเปิดประเทศ แต่สิ่งที่เราป่วยเรื้อรังกันมาในระยะเวลา 2-3 ปี ต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟูพอสมควร
ที่ผ่านมามีโอกาสคุยกับนักธุรกิจโรงแรม ทราบว่าช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาประสบภาวะขาดทุนเงินสดมากถึง 35,000 บาท พอสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาในประเทศก็มาประสบภาวะเงินเฟ้ออีก 1 ระลอกจากสงครามนี้
เมื่อถามว่าเงินเฟ้อในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างไร จะเห็นได้ว่าค่าครองชีพและสินค้าต่างๆ พากันขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น คนที่ทำธุรกิจในประเทศไทยจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ
เพราะถ้าหากว่า วลาดิมีร์ ปูติน ยังไม่มีทางลง ภาคธุรกิจจะต้องวางแผนระยะยาวจะต้องลดค่าใช้จ่าย เพราะอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าประเทศไทยของเรายังคงมีภูมิคุ้มกันมาจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2520 ที่ผ่านมา
วันนี้ถ้าเรามาเปรียบเทียบดูหลายๆ ประเทศไม่ได้มีเงินตราต่างประเทศอยู่ในกระเป๋า ในขณะที่ประเทศไทยมีเงินตราต่างประเทศอยู่ในกระเป๋าประมาณ 3 แสนล้านบาท เงินสดเหล่านั้นทำให้คนที่จะเข้ามาค้าขายในประเทศของเรามีความมั่นใจในสถานภาพทางการเงินของเรา
ยกตัวอย่างประเทศศรีลังกาและประเทศลาว ที่กำลังเหน็ดเหนื่อยกับการบริหารงาน เพราะเงินที่อยู่ในกองคลังกับจำนวนหนี้สินที่ต้องจ่ายไม่สมดุลกัน ทำให้ไม่สามารถมีต้นทุนไปซื้อน้ำมัน หากไม่มีน้ำมัน ประเทศก็ไม่สามารถขับเคลื่อน
ประเทศไทยของเราถือว่ามีระเบียบวินัยเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าได้ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว สิ่งที่สามารถแนะนำได้ดีที่สุดก็คือ “การประหยัด” จะทำให้เราสามารถผ่อนคลายสถานการณ์ความตึงเครียดตรงนี้ลงได้.