ว่าด้วยเรื่องความผิดจากการใช้ “เช็ค” | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
ฉบับนี้ ผู้เขียนจะเล่าถึงหลักการและเหตุผลในการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 (พ.ร.บ. เช็คฯ) ซึ่งปัจจุบันการยกเลิก พ.ร.บ.เช็คฯ ได้ผ่านความเห็นชอบของ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565
ที่มาอันเป็นสาเหตุแห่งการแก้ไข พ.ร.บ. เช็คฯ ในครั้งนี้ และประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ผู้เขียนขอสรุปเป็นประเด็น ดังนี้
- กฎหมายเดิมใช้มานาน
กฎหมายเดิมใช้บังคับตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งหากพิจารณาย้อนไปเมื่อสามสิบปีก่อน เช็ค ถือเป็นช่องหลักในการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงของภาคธุรกิจ ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการตรา พ.ร.บ.เช็คฯ ในเวลานั้น คือ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้เช็คในการทำธุรกรรม
ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างกลไก “ความน่าเชื่อถือ” ของเช็คในการทำธุรกรรมโดยการกำหนดให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการใช้เช็ค (เช่น เช็คเด้ง) มีความผิดอาญาที่อาจร้ายแรงถึงขั้นจำคุกได้
- กฎหมายเดิมถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์
ในปัจจุบัน ระบบชำระเงินของประเทศไทยได้พัฒนาไปอย่างมาก ประกอบกับ การชำระเงินในรูปแบบใหม่นิยมใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ สะดวก และรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการสั่งจ่ายเช็คในอดีต ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้น คือ เจ้าหนี้มักใช้ พ.ร.บ.เช็คฯ เป็นเครื่องมือในการบังคับชำระหนี้กับลูกหนี้ เนื่องจากมีโทษทางอาญาที่หนักและรุนแรงกว่ากรณีทางแพ่งอื่น ๆ โดยในบางกรณีอาจเป็นการข่มขู่และสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับลูกหนี้ได้
เช่น เจ้าหนี้อาจต่อรองหรือบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยการสั่งจ่ายเช็คเพื่อเป็นการประกันหนี้ หรือให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คหรือลงวันที่ไว้ล่วงหน้าก่อนหนี้จะถึงกำหนด ต่อมา เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระตามกำหนด เจ้าหนี้ก็นำเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินกับธนาคาร
เมื่อเช็คเด้ง เพราะไม่สามารถขึ้นเงินได้ เจ้าหนี้อาศัยมูลเหตุดังกล่าวมาดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ (ทั้ง ๆ ที่บางกรณีเป็นเพียงการผิดนัดชำระหนี้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น)
- ปัญหาของการออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้า
นอกจากนี้ หากพิจารณาการออกเช็คลงวันที่สั่งจ่ายไว้ล่วงหน้านั้น ย่อมมีปัญหาในการพิจารณาคดีของศาล เนื่องจากเป็นการยากที่จะระบุได้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ล่วงหน้าหรือเป็นกรณีขายลดเช็ค ประกอบกับการออกเช็คล่วงหน้านั้นยากต่อการพิสูจน์เจตนาของผู้ออก อันก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในการชำระหนี้ในอนาคต ที่จะส่งผลต่อการผิดนัดชำระหนี้ได้โดยง่าย (บางกรณีเป็นการที่ลูกหนี้อาจถูกหลอก)
ดังนั้น หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงในบางกรณี ลูกหนี้อาจมีความผิดนัดชำระหนี้ตามกฎหมายแพ่งเท่านั้น จึงไม่ความนำความผิดอาญามาปรับใช้ในกรณีเช่นว่า
- มีกฎหมายห้ามบังคับลูกหนี้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้หรือไม่?
อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น อันเกิดมาจากกลไกของ พ.ร.บ.เช็คฯ ในปี 2558 ได้มีการตรา พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ที่มีการกำหนดหลักการในการ “ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม” โดยหนึ่งในวิธีการที่ไม่เป็นธรรม คือ “การห้ามเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ให้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้” ซึ่งผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวย่อมมีทั้งโทษปรับและจำคุก
- หากมีการทำความผิดจากเช็คใช้กฎหมายอะไร ยังมีโทษหรือไม่?
การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า คนที่ออกเช็คเด้งจะไม่มีความผิดทางกฎหมาย คำตอบคือดูที่ข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาประกอบ “เจตนา” ของผู้กระทำการผิด โดยหากเป็นกรณีลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เจ้าหนี้ไม่สามารถขึ้นเงินได้ด้วยเหตุผลประการอื่น (เช่น เงินในบัญชีไม่พอ หรือระบบไม่สามารถตัดเงินจากบัญชีเพื่อชำระยอดได้)
กรณีนี้ ความผิดที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามหลักการของประมวลกฎหมายแพ่ง ซึ่งเจ้าหนี้ก็สามารถนำความดังกล่าวไปฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อบังคับเงินตามเช็คได้
ในทางกลับกัน หากการสั่งจ่ายเช็คในลักษณะที่มีเจตนาทุจริต อันอาจเข้าข่ายความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น หากลูกหนี้มีเจตนาหลอกลวงไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับเงินด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความบางอย่าง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโก้ง อันจะมีโทษปรับและจำคุกตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาได้
- ผลบังคับใช้ของกฎหมาย
การยกเลิก พ.ร.บ. เช็คฯ จะมีผลเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ซึ่งปัจจุบันร่างกฎหมายยกเลิกอยู่ในระหว่างส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา) ซึ่งเหตุผลที่กฎหมายให้ระยะเวลาถึง 120 วันนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายในคดีเช็คที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นกรณีที่คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างการพิจารณาของศาล เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่ไม่บัญญัติให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในทันที ก็เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความจำเป็น ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรองรับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในทุกขั้นตอนด้วย
ท้ายที่สุด หากมองในมุมกฎหมาย การยกเลิก พ.ร.บ. เช็คฯ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยแล้ว ยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาด้วย เนื่องจากกรณีผู้ออกเช็คที่มีเจตนาทุจริตย่อมมีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายอาญาอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ผู้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เช็ค ควรติดตามข่าวสารในการแก้กฎหมายครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีผลต่อคดีความในชั้นต่าง ๆ ได้.
คอลัมน์ Legal Vision:นิติทัศน์ 4.0
สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กระทรวงการคลัง