พ.ร.บ.บริษัทมหาชนปรับใหม่ให้ทันสมัยขึ้น | สุมาพร มานะสันต์
ฉบับนี้ ผู้เขียนจะเล่าถึงการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ในหลายประเด็นที่ทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา
- ปัญหาและที่มา
ปัญหาที่ผ่านมา คือ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนฉบับเดิม มีการกำหนดหลักการที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันหลายประการ อันอาจก่อนให้เกิดอุปสรรคในทางปฏิบัติ และเป็นภาระต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคเอกชนได้มีการดำเนินงานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องการผลทางกฎหมายที่แน่นอนในการดำเนินการเหล่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้ภาครัฐจะได้ตรา พ.ร.ก.ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดให้การประชุมตามบทบัญญัติของกฎหมาย หรือการประชุมที่ต้องการให้มีผลตามกฎหมายสามารถดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวเน้นให้ความสำคัญกับ e-Meeting เป็นหลัก
ซึ่งในการดำเนินการของบริษัทมหาชน (บริษัท) ยังมีประเด็นอื่นในการดำเนินงานที่กฎหมายพึ่งปรับปรุงเพื่อรองรับการดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในแง่มุมอื่นให้ครอบคลุมและชัดเจน โดยผู้เขียนขอเน้นประเด็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
1. การบอกกล่าว แจ้งเตือน และโฆษณา
กฎหมายเดิม : กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมี “การบอกกล่าว แจ้งเตือน หรือโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัท” ให้ประชาชนทราบ ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์และจำหน่ายในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ ติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน
ซึ่งในกรณีนี้ก็มีข้อสังเกตว่า พฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในปัจจุบันมีการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น และรูปแบบสื่อในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ปัจจุบัน : ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลของกฎหมายเดิม กฎหมายปัจจุบันจึงกำหนดให้การบอกกล่าว แจ้งเตือน หรือโฆษณา สามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ การบอกกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น บริษัทอาจต้องติดตามหลักเกณฑ์ของนายทะเบียนที่จะประกาศกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินงาน
เนื่องจากในทางปฏิบัติอาจยังมีข้อสงสัยในเรื่องของเงื่อนเวลา เช่น การนับระยะเวลาในการบอกกล่าวจะนับอย่างไร และระยะเวลาในการเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องนานเท่าใด รวมไปถึงช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แบบใดบ้างที่สามารถใช้เพื่อประกาศโฆษณาได้ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าควรจะเป็นหน้าเว็บไซต์ของบริษัทที่นำมาใช้เป็นช่องทางหลักในการบอกกล่าวข้อความต่างๆ
โดยจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแนวทางสากล ซึ่งผู้ปฏิบัติงานพึ่งศึกษารายละเอียดของหลักเกณฑ์นายทะเบียนที่ภาครัฐจะประกาศในอนาคตประกอบด้วย
2. การส่งหนังสือ หรือเอกสารถึงกรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้
กฎหมายเดิม : การส่งหนังสือหรือเอกสารตามกฎหมายบริษัทมหาชนแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ
1) กรณีส่งข้อมูลสำคัญ โดยกฎหมายกำหนดให้บริษัทมีหน้าที่ส่งเอกสารให้กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้โดยตรง หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเท่านั้น
2) กรณีแจ้งเรื่องสำคัญ เช่น การส่งเอกสารเพื่อเรียกประชุม ผู้ถือหุ้น กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งเอกสารถึงเจ้าตัว พร้อมทั้งมีการประกาศข้อความดังกล่าวเป็นการทั่วไปด้วย (ซึ่งมักใช้วิธีประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์)
ปัจจุบัน กฎหมายมีการปรับปรุง ดังนี้
1) กรณีการส่งข้อมูลสำคัญ บริษัทมีทางเลือกในการส่งเอกสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ หาก “กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ ได้แจ้งความประสงค์หรือให้ความยินยอมก่อนล่วงหน้า” ในการนี้ การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับต้องแจ้ง “ความยินยอม” หรือ “แจ้งความประสงค์” ก่อนล่วงหน้านั้น มีนัยสำคัญเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้รับเอกสารเป็นหลัก
โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับได้ระบุที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์ (เช่น e-Mail) ที่เป็นปัจจุบันของตนให้บริษัททราบล่วงหน้าก่อน เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับเสียสิทธิในการเข้าถึงเอกสารสำคัญต่างๆ ของบริษัท
ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าหลักเกณฑ์นายทะเบียนที่จะประกาศในอนาคตควรกำหนดวิธีการแจ้งความประสงค์/ความยินยอม รวมไปถึงหน้าที่ของบริษัทในการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับให้เป็นปัจจุบันให้ชัดเจนต่อไป
2) กรณีแจ้งเรื่องสำคัญ เป็นไปตามหลักการบอกกล่าว แจ้งเตือน และโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นในข้อ (1)
3. การประชุมคณะกรรมการ
กฎหมายเดิม : ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยสามเดือนครั้ง ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท หรือจังหวัดใกล้เคียง เว้นแต่ข้อบังคับจะกำหนดให้มีการประชุม ณ ท้องที่อื่น
ปัจจุบัน : การประชุมคณะกรรมการสามารถดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยให้ถือว่าที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เป็นที่จัดประชุม
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าการประชุมคณะกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น กฎหมายกำหนดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องระบุไว้ในข้อบังคับก็ได้
(ในทางกลับกัน หากบริษัทได้มีข้อกำหนดห้ามการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้ในข้อบังคับ ย่อมไม่สามารถดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้)
4. กรณีผู้ถือหุ้นเรียกประชุมเอง
กฎหมายเดิม : ผู้ถือหุ้นสามารถเรียกประชุมวิสามัญได้ หากคณะกรรมการไม่นัดประชุมภายใน 45 วันนับแต่วันที่ผู้ถือหุ้นร้องขอ
ปัจจุบัน : ผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุม อาจจัดส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ หากผู้ถือหุ้นรายดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์หรือให้ความยินยอมไว้ (หลักการเรื่อง ความการแจ้งความประสงค์และความยิมยอมเป็นไปตามที่อธิบายไว้ข้างต้น
5. การมอบฉันทะ
กฎหมายเดิม : สามารถมอบฉันทะให้คนอื่นเข้าร่วมและออกเสียงแทนได้ โดยให้ดำเนินการเป็นหนังสือตามแบบที่นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดกำหนด (ทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ถือหุ้น และยื่นต่อประธาน)
ปัจจุบัน : สามารถดำเนินการมอบฉันทะผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกกับผู้ถือหุ้นในกรณีที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ให้สามารถใช้สิทธิของตนในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้โดยสะดวก
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากช่วยลดต้นทุนในการจัดการเอกสารให้กับบริษัท ในขณะเดียวกันก็เป็นตอบสนองพฤติกรรมของประชาชนและนักลงทุนในปัจจุบันที่เข้าถึงข้อมูลและดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ในโลกออนไลน์มากขึ้น