"5คำถาม" เกณฑ์ไม่สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลชำระราคา | สุมาพร มานะสันต์
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยอธิบายประเด็นเรื่อง การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโท/โทเคน) ชำระราคาสินค้าและบริการ (MOP) ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในรูปแบบที่เข้มข้นแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศไทย เกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว มีทิศทางในการจำกัดการให้บริการเพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ โดยได้มีการประกาศในรูปแบบประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา แต่จะมีผลใช้บังคับใช้จริงในวันที่ 1 เมษายน 2565 นี้
ดังนั้น บทความฉบับนี้ ผู้เขียนจึงได้ยกเกณฑ์ดังกล่าวของไทย มาตั้งเป็นประเด็นคำถามห้าข้อ เพื่อง่ายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจ
ที่มาและหลักการเป็นอย่างไร?
หลังจากการหารือร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กธ. 5/2565 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ
ในรายละเอียด ประกาศฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการ “ไม่สนับสนุน” การให้บริการ หรือ การกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริม การชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในหมวดว่าด้วยการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ห้ามใครให้บริการ?
เมื่อเป็นเกณฑ์ที่ออกภายใต้กรอบของ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้เล่นที่ถูกจำกัดการให้บริการ MOP ด้วย สินทรัพย์ดิจิทัล จึงหมายถึง “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้กำกับของสำนักงาน ก.ล.ต.” อันได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ดังต่อไปนี้
(1) ศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
(2) ศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล
(3) นายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
(4) นายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล
(5) ผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี
(6) ผู้ค้าโทเคนดิจิทัล
(7) ผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี
(8) ผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล
(9) ที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี
(10) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล
ห้ามให้บริการอะไรบ้าง?
ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในข้างต้น ต้องไม่ให้บริการ สนับสนุน หรือส่งเสริม การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการ ใน 6 ลักษณะ ดังนี้
1) ไม่โฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการ MOP ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
2) ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกแก่บุคคลใดในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็น MOP
3) ไม่เปิด Wallet เพื่อให้บริการ MOP ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
4) ไม่ให้บริการโอนเงินบาท จากบัญชีลูกค้าไปยังบัญชีอื่น (ซึ่งข้อนี้ ไม่จำกัดว่า บัญชีดังกล่าวจะเป็นบัญชีที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือบัญชีเงินบาทที่ลูกค้าฝากได้ไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล)
5) ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบัญชีลูกค้าไปยังบัญชีอื่นที่ไม่ใช่บัญชีของลูกค้า เพื่อการ MOP ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
6) ไม่ให้บริการอื่นใดที่สนับสนุนการ MOP ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เกณฑ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดกรอบเงื่อนไขในการให้บริการกับลูกค้าในลักษณะที่ไม่เป็นการสนับสนุนการชำระราคาค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
ต้องดำเนินการอย่างไรหากลูกค้าใช้บัญชีเพื่อการชำระราคาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล?
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตรวจพบว่า ลูกค้ามีการใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดไว้เพื่อการลงทุน แต่กลับนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระราคาค่าสินค้า/บริการ ต้องดำเนินการตามลำดับ ดังนี้
1) แจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้งานที่ผิดเงื่อนไขการให้บริการดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากได้มีการแจ้งเตือนแล้ว แต่ลูกค้ายังคงดำเนินการเช่นนั้นอยู่
2) ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการกับลูกค้าที่ใช้บัญชีดังกล่าวผิดเงื่อนไขการให้บริการ อธิเช่น ระงับการให้บริการเป็นการชั่วคราว หรือยกเลิกการให้บริการ หรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน
ผู้ที่ประกอบธุรกิจในลักษณะนี้อยู่ก่อนแล้วจะทำเช่นไร?
เช่นก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อาจมีการทำความตกลง หรือความร่วมมือกับร้านค้า ผู้ให้บริการ หรือผู้ประกอบธุรกิจอื่นใด ในการเป็นสื่อกลางในการรับชำระราคาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำมาก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ
ดังนั้น ในกรณีนี้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ก่อนแล้ว หรือในวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ มีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในประกาศนี้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ (นับจากวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้)
ท้ายที่สุด ผู้เขียนยังเชื่อว่า เป็นการยากที่จะห้ามการเจริญเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญควบคู่ไปกับการห้ามกิจกรรมบางประเภทในเวลานี้ คือ การศึกษาเพื่อพัฒนากฎเกณฑ์ที่เหมาะสมในการสนับสนุนและรองรับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลของภาคการเงินในอนาคต.