แนวคิดในการพัฒนาประเทศ | วรากรณ์ สามโกเศศ

แนวคิดในการพัฒนาประเทศ | วรากรณ์ สามโกเศศ

การพัฒนาประเทศเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันหยุดและเกิดการเรียนรู้ระหว่างทางเพื่อนำไปปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผมได้พบข้อเขียนที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่มาจากประสบการณ์การพัฒนาประเทศไทยที่จะเป็นประโยชน์สำหรับคนรุ่นต่อไป

คุณสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เขียนเมื่อ มี.ค. 2564 เป็นอดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยมาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ ดังนั้น ความคิดตกผลึกเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรขบคิด

คุณสรรเสริญเห็นว่า ปณิธานของการพัฒนาประเทศควรเป็นดังนี้ “...ให้ภายในมีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านภูมิสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดคุณภาพที่ดี มีภูมิคุ้มกัน ที่สามารถรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและภายในได้ดี โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาจากฐานล่างขึ้นข้างบน ให้เกิดความเป็นธรรม

ลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ กระจายการพัฒนาให้คนส่วนใหญ่อยู่ดี มีสุข พอมี พอกิน พอใช้ เป็นสังคมที่มีความสงบร่มเย็น มีความสามัคคี เป็นพลังเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดความสมดุล...

 

แนวคิดในการพัฒนาประเทศ | วรากรณ์ สามโกเศศ

(ภาพถ่ายโดย David Egon)

 

ในการนี้ สิ่งที่ต้องเอาใจใส่อย่างจริงจังได้แก่ “...เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิด ทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรม ที่กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาทำให้อัตลักษณ์ของสังคมไทยเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างมีเหตุผล ตามเหตุตามปัจจัย แต่ที่ต้องระมัดระวังคือการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อม

ดังนั้น ทุนทางสังคมของไทย (คน วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ ภาษา ภูมิปัญญา กระบวนการประชาคม) ควรที่จะได้รับความสำคัญลำดับต้น ๆ ในการพัฒนาให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อรักษาคุณลักษณะของความเป็นไทยเอาไว้ไม่ให้เสื่อมไปได้อย่างรวดเร็ว ทุนทางสังคมที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ คน คุณภาพคน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้ไปในทางที่ดีได้ 

คุณภาพคนต้องพัฒนาให้มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรอบรู้ที่จะพึ่งพาตนเองได้ เป็นคนที่มีคุณธรรมและความดี การพัฒนาให้คนมีคุณธรรม ความดีนั้นต้องมีวิธีการปลูกฝังให้เกิดเป็นนิสัยตั้งแต่เด็กจนเติบโต เพื่อช่วยกันสร้างสังคมที่มีคุณธรรม ส่วนทุนทางสังคมด้านอื่นๆ ก็จำเป็นต้องมีมาตรการ วิธีการในการพัฒนาให้มีภูมิคุ้มกันให้เกิดความเข้มแข็งควบคู่กันไป…”

สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาคือ การมีชุมชนเข้มแข็งโดยพัฒนาจากฐานล่าง ผ่านการมีหลักคิดสำคัญคือ “…พัฒนาให้หน่วยเล็ก ๆ ของสังคม (ครอบครัว ชุมชน) มีความเข้มแข็ง รู้จักพึ่งพาตนเองได้ และขยายความเข้มแข็งออกไปในหน่วยของสังคมที่ใหญ่ขึ้นให้มีความเข้มแข็ง จากครอบครัวเป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด และเป็นประเทศโดยรวม 

 

แนวคิดในการพัฒนาประเทศ | วรากรณ์ สามโกเศศ

(ภาพถ่ายโดย Pok Rie)

 

ความเข้มแข็งก็จะเกิดขึ้นจากพื้นฐานภายในประเทศ การบริหารจัดการให้เกิดชุมชนเข้มแข็งนั้นต้องดำเนินการโดยสนับสนุนให้เกิดกระบวนการที่ชาวชุมชนรู้สึกอยากจะพัฒนา แก้ไขปัญหาของตนด้วยการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น มีการรวมตัวเป็นประชาคม ดำเนินการให้เกิดกระบวนการระเบิดจากข้างใน คิดเอง ทำเอง ให้มากที่สุด จัดทำความคิดออกมาเป็นแผนชุมชน ที่มีการพิจารณาแบบองค์รวม

(เศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองมากขึ้น สภาพสังคมที่มีคุณธรรม ความดี มีความเอื้ออาทรต่อกัน สภาพแวดล้อมที่มีความน่าอยู่ มีระเบียบวินัย มีระบบการบริหารจัดการที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับได้) แผนชุมชน (หรือแผนแม่บทชุมชน) นี้เกิดจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้

การมีส่วนร่วมของชาวชุมชนเอง การดำเนินการที่จะทำให้เกิดแผนที่ดีจึงต้องอาศัยเวลา ค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อม และปัจจัยเอื้อของแต่ละชุมชน จุดมุ่งหมายของความสำเร็จคือทำให้ชาวชุมชนอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสงบสุข มีองค์ความรู้ที่จะดูแลตนเองได้ คนส่วนใหญ่พอมี พอกิน พอใช้ มีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดี...”

ประเด็นสำคัญคือ ต้องทำให้เศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางพึ่งพาตนเองมากขึ้น เป็นที่ชัดเจนในปัจจุบันว่าการที่เศรษฐกิจพึ่งพาภายนอกมากๆ นั้นไม่น่าเป็นทิศทางที่ดี ควรหาวิธีการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้หันมาพึ่งพาภายในให้มากขึ้น

“...เศรษฐกิจที่มีฐานทางเกษตรของเราคงมีความสำคัญมากอยู่ การผลิตอาหารที่มีคุณภาพเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเราต้องเรียนรู้ให้ทัน และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และต้องหาวิธีพึ่งพาตนเองให้ได้มากขึ้นจากเทคโนโลยีเหล่านั้น

เศรษฐกิจฐานบริการและการท่องเที่ยวมีความสำคัญ ควรส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในกันเองให้มากขึ้น นโยบายเศรษฐกิจควรพิจารณาให้เดินสายกลาง ไม่ให้เป็นทุนนิยมที่สุดโต่งเกินไป เหลียวมาดูแลทางด้านสังคมให้อยู่ดี มีสุข ลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเป็นธรรม กระจายความเจริญให้ทั่วถึงขึ้น การพัฒนาก็จะมีความสมดุลมากขึ้น...”

ประเด็นสุดท้ายคือ การรับมือกับภัยจากธรรมชาติ และการพัฒนาภูมิคุ้มกันทางกายภาพ ปัญหาโลกร้อนนั้นต้องตระหนักถึงผลกระทบ โดยมีการรับรู้ เอาใจใส่ หาวิธีป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ “...ปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้น เมืองที่อยู่ชายฝั่งทั่วโลกจะต้องเจอปัญหานี้ (มีงานวิจัยจากหลายสถาบันทั่วโลกที่ควรนำมาพิจารณา) ประเทศไทยมีฝั่งทะเลที่ยาวมาก จะต้องโดนผลกระทบนี้แน่นอน 

ดังนั้น ควรเริ่มพิจารณากันอย่างจริงจังว่ามีโครงการที่ต้องลงทุน ทางด้านกายภาพในการป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบอย่างไร ที่ไหนควรทำบ้าง ด้วยวิธีการใด โครงการลักษณะนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวไกล ต้องใช้เวลาดำเนินการที่ยาวนาน รวมทั้งต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ไขและป้องกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญของการอยู่รอดของประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผนและเริ่มปฏิบัติการกันอย่างจริงจัง...

ความคิดเห็นข้างต้นมิได้มาจากสุญญากาศ หากมาจากประสบการณ์และการเรียนรู้ที่สั่งสมจากการทำงานด้านพัฒนาประเทศไทยของบุคคลหนึ่งตลอดเวลากว่า 40 ปีของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา จึงสมควรได้รับการใคร่ครวญอย่างยิ่ง