การคุ้มครองผู้พิการที่ปรากฏในสื่อโฆษณา | ผจญ คงเมือง

การคุ้มครองผู้พิการที่ปรากฏในสื่อโฆษณา | ผจญ คงเมือง

การพัฒนาสังคม จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการขับเคลื่อน และภายใต้แนวคิดของรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น ทุกคนย่อมมีความสำคัญ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงมีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยอมรับนับถือหลักการเช่นว่านั้นแล้ว แต่ในทางความเป็นจริง บุคคลก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ไม่ว่าจะในเรื่องสติปัญญา ความสามารถ ร่างกาย จิตใจ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หลายอย่างเป็นอุปสรรคที่จะทำให้บุคคลมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐและสังคมควรต้องส่งเสริม ช่วยเหลือ อุดหนุน รวมถึงคุ้มครองเพื่อชดเชยให้บุคคลได้รับโอกาสและดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม หรือใกล้เคียงกับบุคคลอื่นในสังคมอย่างเสมอภาค อันจะส่งผลในเรื่องการเป็นกำลังในการพัฒนาขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าต่อไปได้อีกทางหนึ่ง

ในสังคมไทย มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ควรได้รับโอกาสและการส่งเสริมอย่างสำคัญยิ่ง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ๆ ได้แก่ คนพิการ ซึ่งการยกระดับคุณค่าในความเป็นบุคคล ที่เท่าเทียมกันกับบุคคลปกติทั่วไป หรือการทำให้เป็นที่รับรู้กันในสังคมนั้น ช่องทางหนึ่งที่อาจกระทำก็ได้แก่ การกระทำผ่านการโฆษณา

การคุ้มครองผู้พิการที่ปรากฏในสื่อโฆษณา | ผจญ คงเมือง

(ภาพถ่ายโดย ELEVATE)

การนำคนพิการมาปรากฏในสื่อโฆษณาในสังคมไทย ดูเหมือนจะคำนึงถึงแต่เพียงประโยชน์บางประการ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ขาดซึ่งสำนึกบางประการ จนเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันไปเสีย

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ให้คำนิยามโดยกำหนดลักษณะและประเภทของการพิการไว้ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยินหรือสื่อความหมาย การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความพิการทางออทิสติก 

ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่าง ๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ขณะที่การโฆษณานั้น ตามกฎหมายไทยมีหลักการหรือเน้นให้ความสำคัญอยู่ที่การคุ้มครองและสร้างความเป็นธรรมต่อการเข้าใจและรับรู้ได้ถึงตัวสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้แก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักการของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่กระจายอยู่ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ อาทิ พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.เครื่องสำอาง เป็นต้น แต่กับการเชื่อมโยงระหว่างรายละเอียดของการแสดงสื่อโฆษณากับสิทธิของคนพิการดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่เลย

การคุ้มครองผู้พิการที่ปรากฏในสื่อโฆษณา | ผจญ คงเมือง

(ภาพถ่ายโดย Kampus Production)

ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ เคยมีการสำรวจว่าคนพิการมีปรากฏอยู่ในโฆษณาต่าง ๆ เพียง 1% จากโฆษณาที่มีอยู่ทั้งหมด และมีปรากฏเพียง 0.06% ในประเทศสหราชอาณาจักร (ผลสำรวจปี 2564) ข้อเรียกร้องหรือแนวความคิดต่อการรับรองความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนพิการกับบุคคลทั่วไปในสังคมก็คือ การปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ อย่างเพียงพอเหมาะสม

อีกทั้งการปรากฏนั้นเป็นการกระทำอย่างเช่นเป็นคนปกติสามัญ โดยไม่จำเป็นต้องกระทำหรือเน้นหรือถูกรับการปฏิบัติอย่างคนพิการ ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน

หากเราจะคิดถึงโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ ที่มีมาตลอด เราจะเห็นเป็นจริงถึงการมุ่งเน้นหรือให้ความสนใจอยู่แต่กับความสมบูรณ์ทางกายภาพของผู้แสดง ความสวย ความงาม อันเป็นภาพเชิงอุดมคติแห่งรูปร่าง หน้าตา และร่างกายของมนุษย์ ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ต่างจากการตอกย้ำ เพื่อสร้างความแตกต่างแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติระหว่างคนพิการกับคนปกติออกไปยิ่งขึ้นไปอีก

ในทางกลับกัน ในขณะที่โฆษณาที่ปรากฏว่ามีผู้พิการอยู่กลับเป็นโฆษณาที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้เห็นเน้นย้ำไปที่ความพิการ เพื่อให้เกิดความเห็นใจ เพื่อให้เกิดการสงสาร เพื่อเรียกร้องให้เกิดความช่วยเหลือ ทั้งนี้ อาจลืมตระหนักไปว่าในมุมของผู้พิการยิ่งทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกถึงการเป็นบุคคลที่ด้อยค่า ขาดความสามารถ ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อันเป็นการเพิ่มความแตกต่างของความเป็นมนุษย์ให้ห่างออกจากคนปกติทั่วไป

ในต่างประเทศจึงมีแนวคิดหลักการเบื้องต้นที่ยึดถือกันเป็นพื้นฐาน ได้แก่ การพิจารณาว่าบุคคลทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกันและไม่มีความแตกต่างกัน การที่ต้องไม่ทำให้สังคมรู้สึกว่าบุคคลถูกพิจารณาอย่างเป็นไปเพื่อให้เกิดการแบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประเภทบุคคล ร่างกาย หรือความสามารถ 

การหลีกเลี่ยงที่จะใช้หรือแสดงถ้อยคำที่แสดงถึงความพิการ ต้องไม่ใช้ความพิการเป็นเครื่องมือเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า หรือแสดงว่าสินค้าใดสินค้าหนึ่งเหมาะหรือสำหรับคนพิการแต่เพียงเท่านั้น ต้องไม่กระทำการอันแสดงถึงการที่ผู้พิการเป็นผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเสมอ ต้องไม่นำเสนอถึงความพิการอย่างฟุ่มเฟือย ต้องไม่นำเสนอในเชิงที่ทำให้ผู้ชมเห็นแล้วรู้สึกเชิงสงสารและไม่ทำให้เกิดความรู้สึกสมเพช อีกทั้งต้องไม่นำคนพิการมาหาประโยชน์แม้แต่กระทั่งจะเป็นเพื่อการกุศลก็ตาม

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น หากพิจารณาสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยแล้ว ดูเหมือนจะยังห่างจากแนวคิดที่โลกสากลเป็นอยู่ คงต้องถึงเวลาที่ต้องหันกลับมาตระหนักและดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้คนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงต่อไปอย่างเร็ววัน

 

คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ผจญ คงเมือง 
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์