Market Maker หรือ Wash Sale | พิเศษ เสตเสถียร

Market Maker หรือ Wash Sale | พิเศษ เสตเสถียร

5 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ เรื่อง “บทบาท Market Maker ในตลาดรอง : ต้องไม่ผลักดันราคา ไม่สร้างปริมาณเทียม” โดยพูดถึงบทบาทและวัตถุประสงค์ของการมี Market maker ในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

แต่การทำหน้าที่ของ Market maker นั้นจะต้องไม่ไปผลักดันราคาหรือสร้างปริมาณเทียมในการซื้อขายขึ้นในตลาด (www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2565/050765.pdf) ผู้ที่มิได้อยู่ในวงการหลักทรัพย์หรือวงการคริปโทเคอร์เรนซี อาจจะสงสัยว่า Market maker ก็ดี Wash sale (หรือ Wash trading) ก็ดี มีความหมายว่าอะไร? 

Market maker มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” มีหน้าที่ในการสร้างสภาพคล่องให้กับตลาด พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ ในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลก็อาจจะมีผู้มาซื้อขายน้อยทำให้ตลาดไม่มีสภาพคล่อง คนที่จะมาซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะทำได้ลำบาก ผู้ดูแลสภาพคล่องก็จะมีบทบาทตรงนี้คือจะเข้ามาทำการซื้อขาย เพื่อให้ตลาดคึกคักสามารถซื้อได้ง่ายขายได้คล่องขึ้น

โดยหลักการแล้ว ผู้ดูแลสภาพคล่องเข้าซื้อหรือขายในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น เพราะไม่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างราคา และจะซื้อขายในราคาต่ำ ผลประโยชน์ที่ได้จากการซื้อขายก็จะน้อย เพราะไม่ได้ต้องการสร้างราคาเพียงแต่ต้องการสร้างสภาพคล่องเท่านั้น ผลประโยชน์ที่ผู้ดูแลสภาพคล่องจะได้รับจะเป็นรูปแบบอื่น เช่น ส่วนลดของค่าธรรมเนียมของตลาด 

ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กธ.19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็น “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ต้องดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดให้มี “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. 

ส่วน Wash sale คือ การซื้อและขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยบุคคลคนเดียวกันในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อซื้อและขายในเวลาเดียวกันก็เท่ากับไม่มีการซื้อขาย แต่เป็นการทำให้ตลาดเข้าใจผิดว่ามีการซื้อขาย ดังนั้น Wash sale จึงถือเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อีกนัยหนึ่งคือการปั่นราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลนั่นเอง

Market Maker หรือ Wash Sale | พิเศษ เสตเสถียร

ในพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 46 ว่า ห้ามมิให้บุคคลใดกระทําการดังต่อไปนี้

  1. ส่งคําสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทําให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล
  2. ส่งคําสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

และในมาตรา 48 ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า การกระทําดังต่อไปนี้เป็นการทําให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 46 (1) หรือเป็นการกระทําที่ทําให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาดตามมาตรา 46 (2) แล้วแต่กรณี คือ

  1. ซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งในที่สุดบุคคลที่ได้ประโยชน์จากการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเป็นบุคคลคนเดียวกัน
  2. ซึ่งข้อสันนิษฐานตามมาตรา 48 (1) นั้นก็คือ Wash sale นั่นเอง

การกระทำของ Market maker มีความใกล้เคียงกับ Wash sale มากจะว่าไปก็คือ การกระทำอันเดียวกันนั่นเองแต่เจตนาต่างกัน คือ นักลงทุนที่มาปั่นราคาสินทรัพย์มุ่งหวังผลกำไรจากการปั่นราคา แต่ผู้ดูแลสภาพคล่องมุ่งหวังให้ตลอดเกิดสภาพคล่อง ส่วนผลกำไรเป็นเรื่องรอง

ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.จึงได้กล่าวย้ำมาในบทความข้างต้นว่า “Market Maker เสริมสภาพคล่องได้ แต่ห้ามทำ wash trading