วิกฤติเงินเฟ้อ ที่ไม่ใช่แค่ ‘อุปสงค์ดึง’ & ‘อุปทานผลัก’
ตั้งแต่ต้นปี 2565 เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐรายงานอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 8.6% ซึ่งสูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี
ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คาดว่าเงินเฟ้อในไทยจะอยู่ที่ระดับสูงในปีนี้ แต่จะลดเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ได้ในปีหน้า ภาวะเงินเฟ้อในไทยก็ดูจะแย่กว่าที่คาด
เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 7.66% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี จึงเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศในโลกนี้เผชิญอยู่
ในครั้งนี้เราจะชวนคุยกันว่าปัญหาเงินเฟ้อเกิดจากสาเหตุอะไร และมีแง่มุมไหนที่ต้องพิจารณากันบ้าง โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์ระบุสาเหตุการเกิดภาวะเงินเฟ้อไว้ 2 ประการ คือ แรงดึงทางด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) เนื่องจากคนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และแรงดันทางด้านอุปทาน (cost-push inflation) จากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
ธปท. อธิบายว่า สาเหตุที่เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากทั้ง 2 สาเหตุ เพราะการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังจากวิกฤติโควิด ทำให้เกิด “การจับจ่ายที่อัดอั้น” (revenge spending) ผู้คนต้องการซื้อสินค้ามากขึ้นกว่าช่วงที่ถูกล็อกดาวน์ ส่วนในด้านอุปทานก็ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ถ่านหิน และทองแดง ฯลฯ รวมถึงความขาดแคลนสินค้าบางประเภทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ชิพเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์
(ภาพถ่ายโดย MART PRODUCTION)
ในสหรัฐ ข้อถกเถียงเรื่องเงินเฟ้อระอุด้วยดีเบตของนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ 2 คน คือ เจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ พอล ครุกแมน และอดีตรัฐมนตรีคลัง ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ดีเบตดังนี้เกิดขึ้นครั้งแรกต้นปี 2564 และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ ถือเป็น “ซูเปอร์โบวล์” ทางเศรษฐศาสตร์ เพราะถกเถียงกันระหว่างผู้มีชื่อเสียงบนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “American Rescue” ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
ซัมเมอร์สเปิดฉากว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมีขนาดใหญ่และเสี่ยงเกินไป หากกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ต้องการลดช่องว่างระหว่างส่วนต่างของกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบัน กับประสิทธิภาพที่สามารถผลิตได้จริงก็ย่อมไม่เกิดผล เพราะช่องว่างดังกล่าวใหญ่โตเหลือเกินจนเงินที่ใส่เข้าไปเป็นเหมือนนำเม็ดทรายไปถมช่องว่าง
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ทำการเก็บภาษีมาชดเชยค่าใช้จ่ายอย่างเพียงพอ ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในอนาคต ซัมเมอร์สเสนอให้รัฐบาลเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ การศึกษาและเศรษฐกิจสีเขียวแทน
ขณะที่ครุกแมนมองว่า ประเด็นของซัมเมอร์สไม่ถูกต้อง การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ใช่การปิดช่องว่างประสิทธิภาพการผลิต แต่เป็น “เงินเยียวยา” โดยเปรียบเปรยว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเหมือนการเข้าสู่สงคราม เมื่อถูกโจมตีเราคงไม่ถามว่าช่องว่างหรือส่วนต่างมีเท่าไร ขนาดที่เหมาะสมของงบประมาณสำหรับป้องกันตัวก็ขึ้นกับว่าค่าตัวทวีเป็นเท่าไรในการปิดช่องว่างดังกล่าว
(ภาพถ่ายโดย Jimmy Liao)
รัฐบาลจึงควรใช้จ่ายให้เพียงพอเพื่อที่จะชนะในการต่อสู้ในสงคราม ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสาธารณะอย่างการจัดหาวัคซีน เงินสนับสนุนด้านการศึกษาและการอุดหนุนรายได้เป็นเงินที่ไม่สามารถตัดทอนลงได้ ค่าใช้จ่ายที่ลดทอนลงได้ก็มีเพียงเงินช่วยเหลือที่ให้กับมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น และเช็คเงินช่วยเหลือที่ให้กับคนที่ไม่ได้ลำบากจริงๆ เท่านั้น
ภายหลังการดีเบตดังกล่าว รัฐบาลไบเดนเลือกดำเนินการในทิศทางเดียวกับที่ครุกแมน คือเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 ปี ให้หลังจากการดีเบตครั้งแรก พบว่าเงินเฟ้อได้ทะยานขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ในการดีเบตครั้งที่ 2 ครุกแมนยอมรับว่าข้อพิจารณาของตนผิดพลาด เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่น่าที่จะลดลง พร้อมอธิบายเพิ่มว่าการทะยานขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนหวาดกลัวที่จะติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น
อุปสงค์ต่อภาคบริการจึงเคลื่อนไปสู่อุปสงค์ต่อสินค้าที่เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ แต่อุปทานชิพเซมิคอนดักเตอร์ไม่เพียงพอ ทำให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นและเป็นปัจจัยผลักให้เกิดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ยังมีการตึงตัวของอุปทานในตลาดแรงงาน และผลของ compositional effect คือ เปลี่การยนแปลงของค่าจ้างจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของตลาดแรงงานในช่วงหลังการระบาดโควิด ที่ระดับค่าจ้างของคนที่ออกจากงานช่วงเวลาที่ผ่านมาต่ำกว่าของคนที่เข้าทำงานใหม่ (แต่ครุกแมนไม่ได้อธิบายว่าองค์ประกอบอะไรเปลี่ยนไป จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อค่าจ้างเช่นนี้)
ทำให้ค่าจ้างที่เป็นอยู่สูงกว่าระดับการจ้างงานเต็มที่ ทั้งผลของราคาในตลาดผลผลิตและแรงงานล้วนส่งเสริมภาวะเงินเฟ้อทั้งสิ้น ส่วนทางฝั่งซัมเมอร์สกังวลในส่วนของตลาดเงิน เพราะผู้คนอาจเพิ่มอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ของตน ทำให้ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยและพฤติกรรมการออมและใช้จ่ายได้
ภายหลังการทะยานขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.75% ไปสู่ 1.5%-1.75% เมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี ผู้ว่าการเฟดระบุการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบ แต่ในระยะสั้นแล้วทุกคนต้องร่วมกันเสียสละเพื่อผลได้ร่วมกันในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม คลารา มัตเทย์ นักเศรษฐศาสตร์จาก New School for Social Research มองว่าในความเป็นจริง ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและมาตรการการแก้ไขด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อผู้คนแต่ละส่วนไม่เท่ากัน
ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพิ่มต้นทุนของการกู้ยืมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้กู้ แต่สำหรับครัวเรือนที่เป็นลูกหนี้ย่อมทำเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และก็ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของรัฐทางด้านบริการทางสังคมเพิ่มสูงขึ้น กดดันให้รัฐต้องลดทอนงบประมาณ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้เปราะบางที่ต้องพึ่งพิงบริการทางดังกล่าว ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยังส่งผลลบต่อแรงจูงใจในการลงทุนและการจ้างงานของภาคเอกชน ทำให้คนตกงานมากขึ้น
คลารา มัตเทย์ มองว่าตลาดแรงงานช่วงการฟื้นตัวหลังการระบาดนี้ เป็นสถานการณ์ที่แรงงานมีอำนาจต่อรองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อัตราออกจากงานที่สูงได้บีบให้บริษัทต้องเพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดคนมาทำงาน นอกจากนี้ กรณีความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพในหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ (เช่น สตาร์บัคส์และอะเมซอน) แสดงถึงพลังใหม่ของขบวนการเพื่อแรงงานในอนาคต
แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดกำลังทำลายการเปลี่ยนแปลงจากรากหญ้านี้ เพราะเป็นการหวนคืนผลิตภาพแก่กลุ่มทุนที่เป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันเป็นการลดพลังบริโภคของชนชั้นกลางและแรงงาน ดังนั้น การเสียสละร่วมกันนั้นจึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกเสียการเสียสละของกลุ่มชนชั้นที่อยู่เบื้องล่าง
ความถูกผิดของข้อวิจารณ์นี้ย่อมถกเถียงได้ แต่อย่างน้อยมันได้แสดงว่าวิกฤติเงินเฟ้อไม่ได้เป็นแค่เรื่องการจัดการกับแรงดึงของอุปสงค์หรือแรงดันของอุปทาน แต่ยังเกี่ยวพันกับการปันส่วน การเสียสละ ผลได้และอำนาจต่อรองของกลุ่มทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ
สิ่งที่ต้องคิดไปพร้อมกับการใช้เครื่องมือทางการคลังและการเงิน คือ เราจะมีวิธีการใดบ้างที่จะชดเชยให้กับผู้ที่แบกรับผลกระทบในการจัดการกับวิกฤติเงินเฟ้อดังกล่าว
คอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน
กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น