การพัฒนาของไทยเป็นแบบใช้หลอดดูดน้ำทำตะเกียบ? | ไสว บุญมา
เมื่อวานนี้ มีการประชุม ณ โรงแรมใหญ่ในกรุงเทพฯ เรื่อง “หุ้นส่วนการพัฒนาจากชุมชนสู่ประชาคมโลก” การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสุดท้ายหลังจากได้ทำกันใน 4 ภาคของประเทศเมื่อช่วงต้นเดือน ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วม แต่ไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี ผู้จัดเวทียังประสงค์จะฟังข้อคิดของผมในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านการพัฒนา ผมจึงส่งข้อเขียนสั้นๆ ให้เขาพิจารณามอบแก่ผู้เข้าประชุม ขอนำบางส่วนของข้อเขียนนั้นมาปันวันนี้ เนื่องจากเรื่องที่พิจารณากันนั้นทั้งกว้างและสลับซับซ้อนมาก จนยากแก่การจะเขียนให้ครอบคลุมได้ในเวลาอันสั้น
ผมจึงเสนอให้มองไปที่การพัฒนาหลังจากเราเข้าสู่ยุค “เร่งรัดพัฒนา” ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก (2504-2509) โดยยึดหลักว่า การพัฒนาจะบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นหากเรามี 2 ปัจจัยหลักซึ่งเปรียบเสมือนตะเกียบที่ทั้ง 2 ขาแข็งแกร่ง
นั่นคือ “ภูมิปัญญา” และ “สัมมาเจตนา” ประสบการณ์ด้านการพัฒนาชี้ชัดว่า การพัฒนาเกิดได้ยากหากมากผู้อยู่ในพื้นที่ไม่มีฐานะเป็นหุ้นส่วนอย่างแท้จริง การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายจะทำให้ชาวไทยมีฐานะนั้น เพราะเท่าที่ผ่านมาไม่มี หรือมีเพียงจำกัด ปัจจัยที่ทำให้ชาวไทยไม่มีอาจมองได้จากความแข็งแกร่งของตะเกียบ
(ภาพถ่ายโดย 龔 月強)
ในการทำแผนพัฒนาดังกล่าว เราปรึกษาชาวต่างประเทศ เนื่องจากเรามองว่า ภูมิปัญญาของเรายังไม่พอ ต่อมาเราส่งคนไทยรุ่นใหม่ไปเรียนยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการบริหารตามระบอบประชาธิปไตย ภูมิปัญญาที่คนรุ่นใหม่นำกลับมาส่วนใหญ่อยู่ในแนวคิดกระแสหลัก
นั่นคือ เศรษฐกิจระบบตลาดเสรีและการบริหารประเทศระบอบประชาธิปไตย เป็นที่น่าสังเกตว่าไทยมิใช่สังคมเดียวที่พยายามเร่งรัดพัฒนาและส่งคนไปแสวงหาภูมิปัญญามาจากต่างประเทศ สังคมอื่นก็ทำ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย
ด้วยเหตุนี้ ภูมิปัญญาที่คนรุ่นใหม่นำกลับมาเสนอต่อผู้กำอำนาจรัฐในประเทศต่างๆ จึงอยู่ในแนวเดียวกัน แต่หลังเวลาผ่านไปไม่ถึง 50 ปี เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ บรรลุเป้าหมายกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศก้าวหน้า ส่วนไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังไปไม่ถึง เราจึงต้องถามว่าด้านสัมมาเจตนาของผู้กำอำนาจรัฐใช่หรือไม่ที่ทำให้การพัฒนาของ 2 กลุ่มนี้ต่างกันมาก?
เนื่องจากเราไม่มีดัชนีชี้วัดเจตนาได้ ผมจึงเสนอให้มองไปที่ความฉ้อฉลของคนที่กำอำนาจรัฐเป็นหลักซึ่งถึงแม้จะวัดยากก็ใช้เป็นแนวเปรียบเทียบได้ ตั้งแต่เริ่มยุคการเร่งรัดพัฒนา เป็นที่ประจักษ์ว่า ในกลุ่มที่พัฒนาไปถึงเป้าหมายผู้กำอำนาจรัฐฉ้อฉลน้อยกว่าในกลุ่มที่ยังไปไม่ถึง เกาหลีใต้เคยมีความฉ้อฉลสูง แต่ก็ลดลงได้ด้วยการใช้มาตรการเด็ดขาดถึงขนาดสั่งประหารชีวิตประธานาธิบดี
(ภาพถ่ายโดย Streetwindy)
ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาการบริหารประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก็ยังต่างกันมากอีกด้วย นั่นหมายความว่า ประชาชนของกลุ่มที่บรรลุเป้าหมายในการพัฒนามีความเป็นหุ้นส่วนมากกว่าประชาชนของกลุ่มที่ยังไปไม่ถึง
อนึ่ง ระบบตลาดเสรีมีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะมันสะท้อนสัญชาตญาณของมนุษย์ 2 อย่างคือ ต้องการมีอิสระและต้องการแลกเปลี่ยนกัน แต่ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดซึ่งก่อให้เกิดปัญหาถ้าไม่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม วิกฤติปี 2540 เป็นเสมือนคำเตือนให้เราตระหนัก เราโชคดีที่มีผู้เสนอว่าควรปรับเปลี่ยนอย่างไรไว้พร้อมแล้วในรูปของแนวคิดใหม่ชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง”
ผมแน่ใจว่าแนวคิดใหม่นี้เป็นภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับสังคมไทย อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้กำอำนาจรัฐไม่สนใจนำมาใช้อย่างจริงจังทั้งที่พร่ำว่าทำและนำไปเสนอถึงเวทีโลก การพร่ำว่าทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมอำพรางต่างๆ
รวมทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญและล่าสุดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งบันดาลให้เกิดการประชุมเรื่องหุ้นส่วนการพัฒนา การมีภูมิปัญญาแต่ไม่นำมาใช้มีค่าเท่ากับไม่มี การไม่ใช้แต่บอกว่าใช้ชี้ให้เห็นการขาดสัมมาเจตนา
ตะเกียบ 2 ขาของการพัฒนาจึงเป็นเพียงหลอดกระดาษสำหรับดูดน้ำ เมื่อนำมาใช้คีบอาหารส่งเข้าปากจึงยากที่จะประสบความสำเร็จ