Green Residence ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม | ศิรินทร์ทิพย์ บุญยวง
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนแพร่กระจายไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมาก มนุษย์จำเป็นต้องป้องกันตนเองเพื่อให้มีชีวิตรอด
มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตจากวิถีเดิม ซึ่งเคยออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ไปโรงเรียน เดินชอปปิง หรือกินอาหารที่ร้าน ต้องหันมาใช้ชีวิตประจำวันและทำทุกอย่างในที่พักอาศัย ดังนั้น บรรยากาศสภาพแวดล้อมในที่พักอาศัยที่ดีจะช่วยตอบโจทย์คุณภาพการใช้ชีวิตในยุค New normal
Green Residence หรือที่พักอาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเทรนด์ใหม่ที่ต้องให้ความสนใจ
สำหรับการบริหารจัดการที่พักอาศัยในอาคารชุดให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของโครงการ นิติบุคคลอาคารชุด และเจ้าของร่วม (ผู้พักอาศัย) หากเป็นไปได้ควรเริ่มจากการออกแบบและก่อสร้าง ให้เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด
หัวใจสำคัญคือการปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักแก่ผู้พักอาศัย ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสื่อสารประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ผ่าน Mobile Application หรือการติดบอร์ดประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้พักอาศัยได้รับทราบข่าวสารต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง
การดำเนินการให้ที่พักอาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่
- การกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
- การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือวัสดุที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร
- การใช้นวัตกรรมที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน
- การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรและพลังงาน
- การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นภายในโครงการ ตั้งแต่การจัดการขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ แสงและเสียง
- การดูแลสภาพแวดล้อมของโครงการให้น่าอยู่และมีความปลอดภัยต่อผู้พักอาศัย
การปรับตัวของอาคารชุดให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ และเป็นทางเลือกของผู้อยู่อาศัยไปพร้อมๆ กัน
ส่วนวิถีการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ในที่พักอาศัย ได้แก่ การใช้น้ำใช้ไฟอย่างประหยัด นำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ คัดแยกขยะให้ถูกประเภทเพื่อให้สามารถนำขยะรีไซเคิลกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้ ขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาประโยชน์ได้ส่งไปจัดการอย่างเหมาะสม
ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับระบบไฟส่องสว่างบนชั้นดาดฟ้าและรอบอาคาร ช่วยกันดูแลพื้นที่สีเขียวซึ่งใช้ประโยชน์ในการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และสร้างทัศนยภาพที่สวยงามให้กับที่พักอาศัย
ขณะเดียวกัน ที่พักอาศัยในรูปแบบอื่นๆ อาทิ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ก็มีโอกาสปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ จากการปรับตัวของภาคการก่อสร้าง ซึ่งให้ความสำคัญต่อการใช้วัสดุก่อสร้างที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย
มีการออกแบบเพื่อให้เกิดขยะจากการก่อสร้างน้อยที่สุด มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในบ้านที่ประหยัดพลังงานสำหรับเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค รวมถึงใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จะช่วยขับเคลื่อนให้ที่พักอาศัยมีรูปแบบที่สอดคล้องกับการผลิตและการบริโภคที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามทิศทางการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน.