จุดเด่น และความท้าทายของ DAO (องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์)
องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organization คือแนวคิดที่พยายามจะกระจายอำนาจการบริหารจัดการองค์กรไปยังกลุ่มคน หรือชุมชน โดยอาจจะผ่านการประยุกต์ใช้ Smart Contract หรือ Digital Token (Governance Token) ในการกำหนดทิศทางขององค์กร หรือชุมชน ผ่านการ “โหวต” หรือ “เสนอนโยบาย” โดยที่จะใช้ Governance Token ที่ผู้ถือแต่ละคนครอบครองแทนจำนวนสิทธิ์ในการโหวต
จุดเด่นของ DAO
ความคล่องตัวในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยรูปแบบการบริหารองค์กรแบบกระจายศูนย์ที่มีความเป็น flat organization และสามารถเสนอแนวทางการดำเนินงานโดยชุมชนได้ทันทีทุกเมื่อ จึงทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆที่มีผลกระทบต่อองค์กร ชุมชนสามารถที่จะดำเนินการจัดตั้งข้อเสนอเพื่อดำเนินการรับมือได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนจำนวนมากดังเช่น องค์กรในรูปแบบดั่งเดิม
ความโปร่งใสในการกำหนดทิศทางในการดำเนินงานขององค์กร การดำเนินงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของชุมชน จะต้องถูกการเห็นร่วมจากผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ก่อน ซึ่งโดยส่วนมากจะกระทำการโหวตผ่านระบบบน Blockchain ทำให้มีความโปร่งใสของการโหวตสูง
ระบบการลงคะแนนเสียงที่เปิดกว้าง ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน ในระบบการบริหารจัดการองค์แบบ DAO นั้น จะมีสิทธิและน้ำหนักในการโหวตของแต่ละ Token เท่ากันหมด โดยผู้ที่ถือ Governance Token ขององค์กร หรือโครงการทุกคนจะสามารถเข้าการโหวตเพื่อยอมรับ หรือปฏิเสธข้อเสนอ ที่ผู้ใช้งานในชุมชนเสนอเข้ามาได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้สิทธิ์ผ่านทางบอร์ดบริหารเหมือนกับองค์กรแบบดั้งเดิม
เกิดความมีส่วนร่วมของชุมชนผู้ใช้งานกับ องค์กรหรือโครงการมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้งานที่ถือ Governance Token สามารถใช้สิทธิ์โหวตเพื่อกำหนดทิศทางขององค์กร หรือโครงการด้วยตนเองได้ ดังนั้นจึงทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ (Ownership) และมีส่วนร่วม (Engagement) ในโครงการต่างๆขององค์กรมากขึ้น เนื่องจากชุมชนจะมีผลได้ผลเสียกับองค์กรโดยตรง
ซึ่งจากข้างต้นเราก็จะเห็นได้ว่าองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์หรือ DAO นั้น มีข้อได้เปรียบองค์กรแบบดั้งเดิมค่อนข้างมากในแง่ของการมีส่วนร่วม และการปรับเปรียบการแนวทางในการบริหารจัดการที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ แต่ในขณะเดียวกัน แนวคิดการบริหารองค์กรแบบ DAO เอง ก็ทำให้ยังมีความท้าทายอีกพอสมควรที่ยังจะต้องหาทางบริหารจัดการ
ความท้าท้ายของ DAO
ปัญหาการผูกขาด สิทธิ์ในการกำหนดทิศทางขององค์กร เนื่องด้วยนโยบายในการบริหารองค์กรแบบ DAO นั้นจะถูกเสนอโดยชุมชน และโหวตรับรองนโยบายผ่านการใช้สิทธิ์ตามจำนวน Governance Token ของผู้ใช้งาน ทำให้หากมีผู้ใช้งานรายใดรายนึง สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของ Governance Token ขององค์กรดังกล่าวได้เกิน 50% ก็จะทำให้ผู้ใช้รายดังกล่าวมีสิทธิ์ผูกขาดในการตัดสินใจนโยบายขององค์กร
ซึ่งในองค์กรแบบดั้งเดิมจะมีวิธีการบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวผ่านการทำงานของคณะผู้บริหาร และองค์กรกำกับดูแล แต่ในกรณีขององค์กรแบบ DAO เองนั้นจะต้องทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวผ่านทางชุมชนหรือ committee ซึ่งอาจจะทำให้การรับมือกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ไม่ทันท่วงที หรือไม่มีอำนาจในการจัดการที่เด็ดขาดพอ เมื่อเกิดปัญหาได้
ความสามารถในการกำหนดทิศทางขององค์กรในระยะยาว ทิศทางองค์กรแบบ DAO นั้น จะถูกกำหนดโดยข้อเสนอของชุมชน ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หากมีข้อเสนอใหม่ๆ เกิดขึ้นและผ่านการโหวตโดยชุมชน ทำให้อาจจะเกิดปัญหาในการดำเนินงานหรือพัฒนาโครงการที่ต้องการการกำหนดทิศทางแบบระยะยาวได้ เช่น โครงการมีแผนพัฒนาระบบให้สามารถทำงานงานนึงได้
โดยจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 1 ปี ซึ่งคาดว่าหลังแล้วเสร็จจะช่วยให้โครงการมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันสูงมากเมื่อเทียบกับโครงการอื่น แต่หลังจากดำเนินงานไปได้ครึ่งทางกลับมีข้อเสนอโดยชุมชนให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียในแง่ของการลงทุนทรัพยากรเพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวได้
การบริหารจัดการ ขอบเขตของอำนาจในการกำหนดทิศทางองค์กรของผู้ถือ Governance Token การกำหนดขอบเขตอำนาจของชุมชนในการบริหารจัดการองค์กรแบบ DAO นั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื่องจาก หากมีการจำกัดอำนาจในการตั้งข้อเสนอของชุมชนมากไป จะทำให้องค์กรดังกล่าวสูญเสียความกระจายศูนย์ไป
แต่หากให้อำนาจมากจนเกินไป ก็อาจจะเกิดปัญหาอื่นๆตามขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนอาจจะสร้างข้อเสนอที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนตั้งต้นขององค์กร อย่างการถอดถอนสิทธิ์ของผู้ลงทุนตั้งต้นขององค์กร ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุน จนเกิดผลกระทบต่อองค์กร และอุตสาหกรรมในอนาคตได้
การบริหารจัดการทรัพยากรในการตอบสนองทิศทางขององค์กรจากผลการลงมติของผู้ถือ Governance Token ในการดำเนินงานต่างๆขององค์กร ในหลายๆครั้งจะต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านในการดำเนินงานหรือการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เมื่อการกำหนดทิศทางขององค์กรถูกมอบให้กับชุมชนแล้ว จะเป็นความท้าทายขององค์กรที่จะต้องหา ทรัพยากรมาใช้ในการตอบสนองนโยบายดังกล่าว
ยกตัวอย่างเช่น จะเกิดอะไรขึ้นหากองค์กร DAO เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่กลุ่มทีมงานหลักที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนา Software ถูกชุมชนโหวตผ่านข้อเสนอให้องค์กรไปพัฒนา เครื่องบินขนส่ง ทำให้องค์กรเองก็จะต้องการทุนดำเนินการสำหรับลงทุนในอุตสาหกรรมการพัฒนา เครื่องบินขนส่ง ซึ่งจะขัดกับแนวทางตั้งต้นขององค์กร
รวมไปถึงความถนัดขององค์กร ทำให้ท้ายที่สุดแล้วอาจจะส่งผลให้องค์กรสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดไปเลยก็ได้ จริงอยู่ว่ากรณีดังกล่าวอาจจะค่อนข้างสุดโต่งไปหน่อย แต่ว่าหากเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่องค์กรจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการ
สรุป
DAO เองในปัจจุบันก็ยังถือว่าเป็นแนวคิดในการบริหารองค์กรที่ยังถือว่าค่อนข้างใหม่ ถึงแม้ว่าจะยังมีโจทย์ให้ยังต้องท้าทายอีกมาก แต่ในขณะเดียวกันแนวคิดดังกล่าว ก็ยังถือว่าเป็นแนวคิดที่ช่วยให้ชุมชนผู้ใช้งาน หรือ customer เข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรหรือโครงการได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายข้อเช่นกัน ซึ่งก็จะเป็นโจทย์ให้กับองค์กรต่างๆกันต่อไป ว่าจะสามารถนำแนวคิดของ DAO มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ หรือโครงการของตนเองในแง่มุมใด หรือลักษณะใดได้บ้าง
#########
สำหรับผู้ที่สนใจการออก Digital Token ก็สามารถเลือกใช้บริการกับทาง Token X ได้เช่นกัน เพราะ Token X พร้อมให้บริการ Tokenization แบบครบวงจรที่นอกจากจะมีบริการให้คำปรึกษา เชื่อมต่อ และพัฒนาเกี่ยวกับ Tokenization อย่างครบวงจรแล้วยังมีบล็อกเชนที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นเองอย่าง TKX Chain และโซลูชันพร้อมใช้อย่าง TKX API และ TKX Enterprise Portal ที่จะช่วยให้การออก Digital Token กลายเป็นเรื่องง่ายการเลือกใช้โทเคนดิจิทัลอย่างถูกจุด และตรงตามจุดประสงค์ล้วนแต่จะสร้างโอกาสและการเติบโตให้ธุรกิจของคุณได้เกินกว่าที่คิดไว้เสมอ สามารถติดต่อ Token X ได้ที่อีเมล [email protected]