การแบ่งกลุ่มพนักงานตามทักษะ | พสุ เดชะรินทร์

การแบ่งกลุ่มพนักงานตามทักษะ | พสุ เดชะรินทร์

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ทำให้องค์กรต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย หนึ่งในความท้าทายในการปรับตัวขององค์กร คือ การเตรียมพร้อมบุคลากรให้สามารถรองรับและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การ Upskill/Reskill พนักงานกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่เปรียบเสมือนทางเลือกสุดท้าย ที่จะทำให้บุคลากรขององค์กรได้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การ Upskill/Reskill เป็นเพียงแค่ทางออกหนึ่งในการเตรียมความพร้อมพนักงานต่อโลกของการเปลี่ยนแปลง ยังมีเครื่องมือและแนวทางอีกหลายประการที่องค์กรสามารถเลือกที่จะนำมาใช้ได้

อย่างไรก็ดี พบว่าการ Upskill/Reskill รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของพนักงานต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ผู้บริหารคาดหวังไว้นั้น เพราะมักจะทำในลักษณะของ One size fit all หรือตัดเสื้อขนาดเดียวและหวังว่าทุกคนในองค์กรจะใส่ได้หมด

การมองว่าพนักงานทุกคนมีทักษะ ความต้องการ รูปแบบ หรือพฤติกรรมที่เหมือนกันหมด นำไปสู่กลยุทธ์ในการบริหารคนขององค์กรจำนวนมากจะเป็นรูปแบบเดียวและใช้กับพนักงานทุกคน

ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อพนักงานแต่ละกลุ่มแต่ละพวกได้อย่างแท้จริง และสุดท้ายความตั้งใจที่จะพัฒนาและเตรียมความพร้อมพนักงานสำหรับโลกของการเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิดผลที่แท้จริง

การทำ Employee Segmentation (บางแห่งเรียกว่า Workforce Segmentation) เป็นสิ่งที่หลายๆ องค์กรได้นำมาปฏิบัติ เพื่อแบ่งกลุ่มพนักงานตามเกณฑ์ต่างๆ ที่จะกำหนดขึ้น และมีกลยุทธ์หรือแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

หลักการนี้ก็คล้ายๆ กับที่นักการตลาดทำ Customer Segmentation ที่แบ่งลูกค้าเป็นกลุ่มตามเกณฑ์ต่างๆ เพื่อความชัดเจนว่าจะมุ่งจับลูกค้ากลุ่มไหน และคิดกลยุทธ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนั้นๆ

หลายองค์กรได้นำ Employee Segmentation มาใช้อยู่นานแล้ว แต่จำนวนไม่น้อยที่จะแบ่งพนักงานตามเกณฑ์พื้นฐานทั่วๆ ไป เช่น นำช่วงอายุ หรือ Generations ต่างๆ มาใช้แบ่งพนักงาน หรือใช้เพศ หรือระดับการศึกษา หรือตำแหน่งงาน หรือสายงานการทำงาน เป็นต้น 

การแบ่งพนักงานโดยใช้เกณฑ์ต่างๆ ข้างต้นก็ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่พนักงานจำเป็นต้องได้รับการ Upskill/Reskill เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงอายุ เพศ การศึกษา ตำแหน่งงาน หรือสายงาน ไม่ได้เป็นสิ่งที่พยากรณ์ถึงทักษะหรือความสามารถของพนักงานที่จะช่วยองค์กรให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ปัจจุบัน เริ่มพบว่าองค์กรจำนวนไม่น้อยที่เริ่มนำเอาเรื่องของทักษะ หรือ Skills มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มพนักงาน แนวทางที่พบเห็นบ่อยสุดคือ การเลือกเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะมาสองประการ และทำเป็นตาราง 2x2 เพื่อให้ได้พนักงานออกมาเป็นสี่กลุ่ม จากนั้นก็สามารถเลือกที่จะจัดชื่อคนหรือตำแหน่งงานเข้าไปภายใต้แต่ละกลุ่ม 

เกณฑ์สองประการที่นิยมใช้กันก็มีตั้งแต่ ความสำคัญของทักษะที่มี (Skills Value) หรือความพิเศษของทักษะ (Skills Uniqueness) หรือการมีทักษะที่หลากหลาย หรือทักษะที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ เป็นต้น การจะเลือกใช้เกณฑ์ใดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับทิศทาง กลยุทธ์ และความต้องการของแต่ละองค์กรเป็นหลัก

เมื่อจัดแบ่งกลุ่มพนักงานตามทักษะได้แล้ว จากนั้นผู้บริหารก็ย่อมสามารถที่จะกำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางในการบริหารคนที่เหมาะสมสำหรับพนักงานแต่ละกลุ่ม โดยการจัดกลุ่มตามทักษะ แทนที่จะเป็นรูปแบบเดิมๆ นั้นก็จะช่วยทำให้ผู้บริหารได้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงความพร้อมของพนักงานในด้านของทักษะ ความสามารถที่จะต้องมี เพื่อจะรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ข้อดีของการทำ Employee Segmentation ในยุคที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะไม่ดีนั้นคือ ทั้งเพื่อช่วยให้กลยุทธ์ด้านคนขององค์กรตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องต่อทิศทางขององค์กรมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ทำให้การบริหารคนภายในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้มากขึ้น.
คอลัมน์ มองมุมใหม่ 
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ 
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]