จัดพอร์ตการลงทุนรับวิกฤต | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเกียรติอย่างสูงจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ให้ร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม CFP Professional Forum ร่วมกับนักการเงินชั้นนำ ในหัวข้อ "จัดพอร์ตการลงทุนรับวิกฤต" ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำเนื้อหาที่ได้บรรยายมาเล่าให้ฟังในบทความนี้
ในส่วนแรก คือการตอบคำถามที่ว่า สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ผู้เขียนได้ตอบว่า ในภาพใหญ่ของการลงทุนโลก ดูดีขึ้นจากธีมที่เรียกว่า Peak of hawkishness หรือแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐเริ่มชะลอลงตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) สหรัฐไตรมาส 2ที่ผ่านมา ที่หดตัว 0.9% ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ Annulized) ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจาก -1.5% ในไตรมาสที่ 1 โดยการหดตัว 2 ไตรมาสติด บ่งชี้ภาวะ Technical recession หรือถดถอยเชิงเทคนิค
หากพิจารณารายละเอียด พบว่า การบริโภคและการลงทุนติดลบแรง โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ หดตัวรุนแรงถึง -14% นอกจากนั้น การลดลงของสินค้าคงคลังมีส่วนทำให้ GDP หดตัวลง (หรือ Contribution to GDP growth ถึง -2%) แม้ว่าส่งออกสุทธิจะเป็นบวกถึง 18% ก็ตาม
ภาพนี้สอดคล้องกับที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวไว้หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่เริ่มยอมรับว่าการใช้จ่ายและการผลิตเริ่มชะลอลง ภาค อสังหาฯ และการลงทุนเอกชนอ่อนแอ แต่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง และยังคงตึงตัวอยู่มาก ทำให้ FOMC ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps จาก 1.5%-1.75% เป็น 2.25%-2.5% และส่งสัญญาณว่า ส่งสัญญาณว่าการขึ้นแต่ละครั้งหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับข้อมูลเป็นหลัก
หากพิจารณาทิศทางการตอบรับของตลาดจะเห็นว่าแตกต่างกันระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัย โดยสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นปรับขึ้นในระดับ 2-4% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงต่อเนื่อง และเกิดภาวะ Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาวต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าผู้เล่นในตลาดพันธบัตรมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น จึงลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
ผู้เขียนยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนสำคัญเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพราะกระทบต่อภาคอสังหาฯ ชัดเจน ขณะที่ธุรกิจเริ่มกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น เลยพยายามลดสินค้าคงคลัง หรือ Destocking และเมื่อประกอบกับองค์ประกอบหลักของเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง
เช่น ราคาโภคภัณฑ์ทั้งหนักและเบา, ค่าระวางเรือ และราคาน้ำมันค้าปลีกในสหรัฐ บ่งชี้ว่าเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อฝั่งภาคการผลิตเริ่มเข้าสู่จุดสูงสุด (Peak) และอาจเริ่มชะลอลง ขณะที่ฝั่งความต้องการเริ่มใกล้จะ peak แล้ว จากการขึ้นดอกเบี้ยและราคาที่แพงขึ้นลดความต้องการบริโภคและลงทุน (Animal spirit) ลง
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า Fed จะยังขึ้นดอกเบี้ยอยู่ แต่ด้วยอัตราที่ลดลงจึงเป็นการสนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยงในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ แม้เงินเฟ้อในสหรัฐจะเริ่มลดลง แต่ความไม่แน่นอนยังสูงและจะยังมีโอกาสที่จะทะยานขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ก๊าซธรรมชาติในยุโรปจะขาดแคลนจากการปิดท่อก๊าซของรัสเซีย
ประกอบกับความต้องการจากจีนที่เพิ่มขึ้นตามการเปิดเศรษฐกิจ ทั้งสองปัจจัยอาจทำให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งและผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นได้
ขณะที่ในฝั่งของยุโรปและอังกฤษเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงแต่ทั้งสองที่ Behind the curve หรือขึ้นดอกเบี้ยช้าเมื่อเทียบกับสหรัฐ ทำให้ต้องส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงและมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าสหรัฐ ทั้งนี้ การที่ Fed เริ่มคงระดับการตึงตัวดอกเบี้ย ขณะที่ยุโรปและอังกฤษเร่งตัวขึ้นจะทำให้ลดการแข็งค่าของดอลลาร์ขึ้นได้บ้าง
ในฝั่งของจีนแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ต้องจับตากระแสการประท้วง และไม่จ่ายเงินค่าผ่อนที่พักอาศัยที่ลุกลามมากขึ้น แต่การที่ทางการเริ่มสั่งให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้พัฒนาโครงการ ประกอบกับมาตรการการคลังที่สนับสนุนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะยังคงขยายตัวได้
เมื่อภาพเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ คำถามต่อไปคือสินทรัพย์ใดน่าลงทุนในช่วงมีวิกฤต รวมถึงการจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) และสินทรัพย์ที่แนะนำในช่วงนี้ โดยคำตอบของผู้เขียนคือ หากช่วงใดความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น สินทรัพย์ที่น่าจะเป็นแหล่งที่พักเงิน (Safe haven) ได้ดีได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพ Peak of hawkishness การจัดสรรการลงทุนจึงสามารถเริ่มหันมาเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้บ้าง โดย
1. อาจเริ่มลดการถือครองเงินสดลงได้บ้าง แต่ยังคงต้องถือครองไว้ในระดับปานกลางเพื่อระมัดระวังความเสี่ยงเงินต้นสูญหายหากเกิดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตลาดการเงินผันผวน
2. ในส่วนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ อาจถือได้เช่นกัน โดยสถานะทางการคลังของไทยที่แข็งแกร่งทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นหลุมหลบภัยได้ดี แต่โอกาส Upside จำกัด เนื่องจากโอกาสที่ผลตอบแทนพันธบัตรจะลดลง ทำให้การลงทุนในพันธบัตรให้มีกำไรยังเป็นไปได้ยาก
เพราะดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตมีสูงขึ้น ทำให้การถือหุ้นกู้มีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี
3. ในส่วนของการลงทุนในตราสารทุน มองว่าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน ไทย และเวียดนาม จะมีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เนื่องจากวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงค่าเงินที่ผันผวน
4. ขณะที่ในส่วนของตลาดพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐ ต้องระวังนโยบายการเงินที่ยังตึงตัวและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนตลาดญี่ปุ่นน่าสนใจมากขึ้นหลังจากเงินเยนที่อ่อนค่า
5. ส่วนตลาดที่ต้องระมัดระวังได้แก่ยุโรป ที่จะเผชิญความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย และแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงขึ้นของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ท้องฟ้าการลงทุนเริ่มสดใสในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วนั้น ความเสี่ยงยังคงปกคลุมอยู่มาก นักลงทุนจึงควรจัดพอร์ตด้วยความระมัดระวัง.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่