มุมมองของเด็กมหาวิทยาลัยราชภัฏ | ไสว บุญมา
“เด็กราชภัฏ” กลับมาเป็นประเด็นใหญ่ในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปนาน จากวันที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลคนหนึ่งอ้างถึงผู้เรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยน้ำเสียงดูแคลน ผมหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อฟังการอ้างถึงราชภัฏแบบนั้น
ทั้งนี้ เพราะผมเคยเรียนในวิทยาลัยครู ก่อนพ่อหลวง ร.9 จะพระราชทานนามให้วิทยาลัยครูว่าสถาบัน “ราชภัฏ” ซึ่งหมายถึง “คนของพระราชา”
ในปัจจุบัน สถาบันราชภัฏวิวัฒน์มาเป็นมหาวิทยาลัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ 38 แห่ง (หากสนใจเรื่องเกี่ยวกับการเรียนในวิทยาลัยครู ผมเล่าไว้ในหนังสือชื่อ “จดหมายจากบ้านนา” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่ bannareader ความหงุดหงิดเมื่อได้ฟังการดูแคลนของผู้ใหญ่ครั้งนั้นแสดงออกมาเป็นกลอนสั้นๆ ในสื่อสังคม ซึ่งผมใช้เป็นประจำ แต่ไม่ขอนำมาเสนอซ้ำ เนื่องจากใช้ถ้อยคำไม่สุภาพสะท้อนอารมณ์
อันที่จริงผมไม่ควรหงุดหงิด เนื่องจากในชีวิตถูกดูแคลนมาตลอด ไม่ว่าจะเพราะการมีผิวพรรณปานจรกา หรือการเป็นลูกชาวนายากจน แต่ความเป็นปุถุชน มักทำให้ผมมีอารมณ์ที่ต้องพยายามข่มอยู่เสมอ แทนที่จะหงุดหงิด ผมควรขอบคุณผู้ดูแคลนที่เตือนให้ผมเจียมตัวและคิดถึงเรื่องเกี่ยวข้องต่างๆ อย่างพินิจ ในกรณีเด็กราชภัฏอาจคิดต่อไปได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาประเทศ
(ภาพถ่ายโดย Pixabay)
เมื่อเอ่ยเรื่องการศึกษา เป็นที่ประจักษ์มานานว่าสิ่งที่นำมาพูดกันมักเป็นการศึกษาในสถาบันจากระดับอนุบาลจนถึงชั้นมหาวิทยาลัย ทั้งที่ขอบเขตของการศึกษาครอบคลุมมากกว่านั้น และการศึกษาที่น่าจะสำคัญที่สุดของมนุษย์เรามักเกิดขึ้นในบ้าน ซึ่งฝังรากฐานเบื้องต้นของการเป็นคนให้แก่เรา
โดยทั่วไปแม่กับพ่อและญาติผู้ใหญ่ในบ้านเป็นผู้ฝังรากฐานให้ ผู้ใหญ่ในบ้านมีจิตใจอย่างไร เด็กๆ จะถูกปลูกฝังอย่างนั้น สำหรับผู้ใหญ่จิตใจต่ำที่มักดูแคลนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงอาจคาดเดาได้ใกล้เต็มร้อยว่าเขานำความมีจิตใจต่ำนั้นมาจากบ้านมากกว่าจะถูกหล่อหลอมในสถาบันการศึกษา
แม้เวลาจะผ่านมากว่า 60 ปี จากวันที่ผมเข้าเรียนในวิทยาลัยครู แต่ผมยังฝังใจเรื่องอาจารย์ในสถาบันนั้นย้ำว่าเป้าหมายของการศึกษามี 4 อย่างด้วยกัน นั่นคือ หล่อหลอมคนให้รู้จักตนเอง ให้รู้จักสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนมนุษย์ ให้สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้ และให้มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในกิจการด้านสังคม
หลังผันตัวจากนักเรียนฝึกหัดครูไปแสวงหาความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาประเทศอยู่นาน ผมมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏมีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการพัฒนา เพราะเปิดโอกาสให้ผู้อยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศเข้าถึงการศึกษาในสถาบันอย่างเท่าเทียม
(ภาพจาก: มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม)
อย่างไรก็ดี ความมั่นใจนี้จะต้องมีอีก 2 ปัจจัยด้วย นั่นคือ ภาครัฐต้องสนับสนุนมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบการศึกษามาก่อน และผู้ได้รับโอกาสต้องกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองทั้งในระหว่างอยู่ในและนอกสถาบัน
นอกจากจะมีความสำคัญในด้านการฝังรากฐานของการเป็นคน ซึ่งมีศีลธรรมจรรยาเป็นแกนแล้ว การศึกษานอกสถาบันอันเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำคัญต่อการพัฒนาคนและประเทศอย่างไร ในช่วงนี้มีตัวอย่างโดดเด่นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ เรื่องการบริจาคทรัพย์ 900 ล้านบาทของ “อากง” (จุน วนวิทย์) และครอบครัวให้แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ
ประวัติบ่งว่า อากงมีโอกาสเรียนในสถาบันเพียงชั้น ป.2 ภูมิปัญญาที่ส่งให้อากงประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ได้สำเร็จมาจากนอกสถาบัน ไม่เฉพาะเป้าหมายในด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพเท่านั้นที่อากงบรรลุ หากอีก 3 เป้าหมายของการศึกษาอากงก็บรรลุอย่างน่าทึ่ง
การบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาเอื้อให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ เป้าหมายทางการศึกษาจะบรรลุไม่ได้หากโอกาสกว้างไม่เปิดให้ทุกคนเข้าถึง ผู้หลักผู้ใหญ่ในภาครัฐจึงต้องร่วมมือกันสรรหาและดำเนินนโยบายที่จะทำให้โอกาสเช่นนั้นเกิดขึ้น
การที่ผู้ใหญ่ใช้การศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นมาตรวัดค่าของคนในชาติ บ่งบอกว่า ตนขาดทั้งจรรยาและเจตนาดีที่จะพัฒนาชาติ เนื่องจากกำอำนาจรัฐไว้เพื่อใช้แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ประวัติการพัฒนาชี้ชัดว่า การพัฒนาประเทศสำเร็จยากมาก หากผู้หลักผู้ใหญ่ในภาครัฐขาดทั้งจรรยาและเจตนาดี