ทำงานภายใต้การ "ติหาแสง" | บวร ปภัสราทร 

ทำงานภายใต้การ "ติหาแสง" | บวร ปภัสราทร 

คงดีถ้ามีคนคอยเตือนว่า การงานที่ทำไปนั้นมีตรงไหนบกพร่องบ้างในทางสร้างสรรค์ แต่คงไม่ดีแน่ถ้าเกินเลยไปเป็นการจ้องจับผิดในทุกรายละเอียด ติหาแสงมากกว่าการหาทางช่วยให้การงานดีขึ้น

การติเพื่อให้คนติดูมีความสำคัญมากขึ้น คนติกลายเป็นฮีโร่ คนทำให้การงานสำเร็จกลายเป็นคนเลว การติเพื่อหาแสงอาจกลายเป็นวัฒนธรรมของการงานไปได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นในองค์กรที่ไม่ได้จริงจังกับผลลัพธ์ของการทำงาน คือใส่ใจกับการได้ทำมากกว่าการทำงานให้ได้ผล 

"ขั้นตอนของการทำงาน" มีความสำคัญยิ่งยวดเกินกว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานนั้น  การจ้องจับผิดจึงมุ่งลงไปในรายละเอียดขั้นตอนการทำงาน ซึ่งกระทำได้ง่ายกว่าการมุ่งจับผิดไปที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น 

พบเจอกันเสมอว่า ผลลัพธ์ที่ดีอาจมีข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในขั้นตอนการทำงานให้เห็นได้เสมอ ถ้าใส่ใจกับผลลัพธ์ ข้อบกพร่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ถ้าไปใส่ใจเฉพาะขั้นตอนการทำงาน โดยแทบไม่ดูว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร 

ทุกความสำเร็จจะมีจุดให้ติหาแสงได้เสมอ “ติเพื่อก่อ” ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการงาน แต่ “ติหาแสง” ทำให้คนที่โดนเล่นงานหมดไฟในการงานไปได้อย่างทันตาเห็น 

ทุ่มเททำงานจนการงานได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่วางแผนกันไว้ แต่มีบางขั้นตอนในการทำงานที่ผิดพลาดไปบ้าง ซึ่งไม่ใช่ความบกพร่องใหญ่โตจนทำให้ผลลัพธ์เสียหายไป กลายเป็นโทษมหันต์เพียงเพราะมีคนติหาแสงนำเรื่องนั้นไปปรุงแต่งขยายความให้กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย 

ทำงานภายใต้การ \"ติหาแสง\" | บวร ปภัสราทร 

ถ้ามุ่งมั่นผลลัพธ์ คงไม่มีโอกาสให้ติหาแสงกันได้ แต่ถ้ายึดติดแน่นอยู่กับตัวหนังสือในกฎกติกาต่าง ๆ อย่างเถรตรง ปราศจากการคำนึงถึงเจตนารมย์ของกฎกติกานั้น เราจะได้เห็นอาชญากรผู้สร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กันเป็นประจำ 

แน่นอนว่า ไม่มีคนมีฝีมือในการงานคนไหนอยากรับบทนี้แน่  ดังนั้น ถนอมตัวไว้ดีกว่าด้วยการมุ่งมั่นความสำเร็จให้น้อยลง ยึดมั่นขั้นตอนวิธีการให้มากยิ่งขึ้น ทำงานตามตัวหนังสือมากกว่าแรงบันดาลใจในการได้เห็นผลลัพธ์ที่เกินกว่าที่คาดหวัง จนกลายเป็นการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม

ถ้าอยู่ในวัฒนธรรมติหาแสง แล้วต้องเลือกระหว่างเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่อาจพลาดพลั้งได้มากขึ้น กับไม่ยอมเสี่ยงเลยแต่ได้ผลลัพธ์ที่น้อยลง แทบทุกคนจะเลือกที่จะไม่เสี่ยง ยอมจับปลาแถว ๆ ชายฝั่งได้ปลาตัวเล็ก ดีกว่ายอมเสี่ยงออกทะเลไปจับปลาน้ำลึก 

หากพลาดพลั้งเจอคลื่นใหญ่ซัดเรือเสียหายไปเล็ก ๆ น้อย ๆ  กลับเข้าท่าเรือโดนเล่นงาน แม้ว่าจะได้ปลาตัวโตมากก็ตาม 

วัฒนธรรมติหาแสง ทำให้คนทำงานกลัวความล้มเหลว จึงเลือกทำงานง่าย ได้ผลน้อยแต่ไม่เสี่ยง มากกว่ายอมเสี่ยงกับความผิดพลาดโดยพยายามทำงานให้ได้ผลมากขึ้น 

การจ้องตำหนิในรายละเอียดปลีกย่อยของการทำงาน ทำให้คนทำงานสับสนกับสิ่งที่ตนเองทำได้ และทำไม่ได้ในการทำงานนั้นให้ประสบความสำเร็จ จะบอกกล่าวเรื่องการงานอะไรระหว่างกันก็เริ่มกังวลว่าบอกได้มากแค่ไหน บอกใครได้บ้าง บอกแค่ไหนถึงจะรอดจากการจับผิดไปได้ ความโปร่งใสในการงานลดน้อยลง ส่งผลให้การประสานงานไม่ได้ผล กลายเป็นต่างคนต่างทำในส่วนของตน  

การงานข้ามหัวกันไปมากลายเป็นเรื่องธรรมดา มีการส่งต่อการงานกันในหมู่คนที่คิดว่าไว้ใจได้ เพื่อป้องกันคนมาจับผิด ทำงานกันแบบก๊กใครก๊กมัน ไม่มีใครคิดเรื่องผลลัพธ์การงานที่เป็นเลิศ 

ที่พบมากขึ้นอย่างชัดเจนที่สุดคือ วัฒนธรรมติหาแสงจะทำให้แทบทุกคนกลายเป็นนักนินทา แทบทุกขั้นตอนการทำงานกลายเป็นดราม่าไปหมด ฉันทำอะไรก็มีคนนั้นคนนี้มาติ ดังนั้น ใครทำอะไรฉันก็ติคืนไปบ้าง 

นินทากันจนทั้งองค์กรหาใครดีไม่ได้เลย ก๊กเลยกลายเป็นสรณะคือพวกฉันเท่านั้นที่ดีเลิศ ทุกอย่างถูกต้องหมด ที่ติมานั้นล้วนมาจากความอิจฉาริษยาทั้งสิ้น ดราม่าเลยมาก่อนการวางแผน การประสานงานและการประเมินผลงาน 

ถ้าไม่อยากให้องค์กรกลายเป็นองค์กรอุดมดราม่าที่ไม่มีอนาคต ขอให้เลิกให้ความสำคัญกับคนติหาแสงกันเถอะ จ้องผลลัพธ์  อย่าจ้องติขั้นตอน.
คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี