ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

คนไทยตื่นตัวกับเรื่องการใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ทั้งในด้านภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมและสังคมไทย เพื่อการทูตและการท่องเที่ยว ดังเช่นที่เกาหลีใต้ได้ทำสำเร็จอย่างน่าประทับใจ

ลองมาดูกันว่าอะไรควรเป็นเครื่องมือของซอฟต์พาวเวอร์ที่มีประสิทธิภาพของบ้านเรา

ความหมายสั้นๆ ของซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ก็คือ ความสามารถในการใช้การโน้มน้าวเป็นเครื่องมือมากกว่าการบังคับใช้กำลัง ซอฟต์พาวเวอร์คือพลังในการโน้มน้าว ดึงดูดใจ และเรียกร้องเพื่อให้สิ่งที่คนอื่นต้องการเป็นอย่างเดียวกับที่เราต้องการ

ผู้ทำให้แนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ชัดเจนขึ้นก็คือ Joseph Ney นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เขากล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับทรัพยากร 3 ประเภท อันได้แก่

  1. วัฒนธรรมของตนเองในลักษณะที่ดึงดูดใจคนอื่นๆ
  2. ค่านิยมทางการเมือง (Political Values) ที่คนอื่นชื่นชอบและตนเองมีอย่างแท้จริง
  3. นโยบายต่างประเทศที่คนอื่นเห็นว่าถูกกฎหมาย ยอมรับได้ และมีพลังทางศีลธรรม

หากใช้ทรัพยากรทั้งหมดนี้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็สามารถทำให้คนอื่นต้องการสิ่งที่ตนเองก็ปรารถนาด้วย

กล่าวโดยสรุปในมิติที่สังคมไทยพูดถึงในปัจจุบัน ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือพลังในการทำให้คนอื่นมีความรู้สึกที่ดีกับเรา ชอบเราผ่านทรัพยากรต่างๆ ที่เรามี ทั้งหมดนี้เพื่อให้เขาชื่นชอบสังคมและบ้านเมืองของเรา เพื่อเขาจะได้มาท่องเที่ยว อีกทั้งนิยมชื่นชอบวัฒนธรรมของเราตลอดจนดูดีในสายตาของเขา พูดภาษาวัยรุ่นก็คือให้เป็น FC หรือแฟนคลับตัวยงของประเทศไทย

คำถามคือ อะไรเล่าที่เป็นเครื่องมือสร้างซอฟต์พาวเวอร์ดังกล่าว มีการเสนอว่าควรใช้ 5F’s คือ Food/Fashion/Fight/Festival และ Film ซึ่งก็เข้าท่าดีเพราะครอบคลุมอาหารไทย แฟชั่นผ้าไหมผ้าฝ้ายไทย ศิลปะมวยไทย งานเทศกาลต่างๆ ภาพยนตร์และสิ่งบันเทิงของบ้านเรา ซึ่งชาวต่างประเทศรู้จักและชื่นชอบอยู่แล้ว 

ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

เครดิตภาพ: มติชน

ผู้เขียนขอเสนออีกอย่างคือ การไหว้ โดยให้เข้าไปแทรกซึมอยู่ใน 5F’s ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

(1) การไหว้เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย ถึงแม้คนอินเดีย ศรีลังกา ลาว และกัมพูชาจะไหว้เช่นกัน แต่ก็ไม่กระทำกันจริงจังเป็นกิจวัตรในเกือบทุกโอกาสเหมือนไทย ปัจจุบัน คนต่างชาติก็รับรู้การไหว้ของคนไทยอย่างเจนตาอยู่แล้ว เราต้องการเครื่องมือซอฟต์พาวเวอร์ที่ไม่แพง ทำได้ทันที ง่ายต่อการกระทำและแนบเนียนในการผสมกับ 5F’s

(2) การไหว้แสดงออกถึงลักษณะหนึ่งที่สำคัญของค่านิยมของอารยชนทั่วโลก นั่นก็คือ civility หรือการมีมารยาท ความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน การให้เกียรติและเคารพผู้อื่น และที่สำคัญการไหว้สื่อให้ผู้ได้รับการไหว้รู้สึกถึงการได้การยอมรับ ซึ่งเป็นความต้องการทางจิตวิทยาของทุกคน

(3) การไหว้ของไทยมีความอ่อนช้อยงดงาม มีมาตรฐานที่กำหนดมาเนิ่นนานแล้ว กล่าวคือการไหว้ประกอบด้วยกิริยา 2 ส่วนด้วยกันคือการประนมมือ (อัญชลี) และการไหว้ (วันทา) การเอามือประกบกันเป็นพุ่มเปรียบเสมือนดอกบัวคือการแสดงการเคารพ ส่วนการไหว้ก็แบ่งออกเป็นการไหว้พระ การไหว้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครู ฯลฯ และการไหว้บุคคลทั่วไป ตลอดจนการรับไหว้ ตำแหน่งการวางมือวางนิ้วและระดับของการก้มศีรษะผสมกลมกลืนกันสำหรับการไหว้ในแต่ละสถานะ

(4) การไหว้เป็น “ของจริง” ของสังคมไทย มิใช่การเสแสร้งสร้างขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อมา “ขาย” คนต่างชาติ มันเป็นธรรมชาติที่ถูกฝึกมาแต่เด็กจนเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ประการสำคัญมันช่วยฝึกฝนจิตใจและพฤติกรรมของเราให้มีความรักความคารวะ ความสุภาพ การอ่อนน้อมถ่อมตน การเคารพและให้เกียรติผู้อื่น

ผู้เขียนเป็นคนที่ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไหว้ของเรา รู้สึกปลาบปลื้มทุกครั้งที่เห็นทีมนักกีฬาไทย ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล นักกรีฑา นักวอลเลย์บอลหญิง นักมวย นางงาม ฯลฯ ยกมือไหว้อย่างนอบน้อมและงดงาม ถ้าภาครัฐมีนโยบายสร้างซอฟต์พาวเวอร์ผ่าน 5F’s และกำชับให้เราไหว้กันในทุกโอกาส โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวพันกับต่างประเทศด้วยมาตรฐานเดียวกัน ก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้เป็นอย่างมาก

การไหว้สื่อมิตรภาพเพราะเป็นการแสดงออกซึ่งความรัก ความเคารพ ความสุภาพอ่อนน้อม การให้เกียรติและแม้กระทั่งการขอโทษ การไหว้พร้อมแล้วต่อการเป็นเครื่องมือช่วยสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทยครับ.