กับดัก “การพลาดตกขบวน” | วรากรณ์ สามโกเศศ
ความรู้สึกว่าพลาดการได้รับข่าวสาร พลาดข่าวคราว ไม่ได้ไปร่วมงาน พลาดการร่วมมีประสบการณ์ใหม่ ฯลฯ อย่างแตกต่างไปจากคนอื่น จนเกรงว่าการพลาดจะไม่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
อย่างไรก็ดี สำหรับบางคนแล้วปรากฏการณ์ของ “การพลาด” เช่นนี้ ทำให้เกิดความเครียดและอาจเป็นปัญหาทางจิตวิทยาจนทำให้คุณภาพชีวิตเลวลงก็เป็นได้
โลกวิชาการตะวันตก เรียกปรากฏการณ์ของการพลาดดังกล่าวว่า FOMO (Fear Of Missing Out) ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า ความหวาดเกรง “ตกขบวน” หรือ “ตกข่าว” ซึ่งหมายถึงการเกรงว่าการไม่ได้รับข่าวสาร หรือการขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบางคนในบางโอกาส หรือขาดการร่วมงานมหกรรมที่สร้างความทรงจำที่ดี หรือร่วมประสบการณ์พิเศษ ฯลฯ อาจทำให้เสียโอกาสดีๆ ในวันข้างหน้าไป
(ภาพถ่ายโดย Burst)
FOMO เกี่ยวพันกับการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นที่ได้รับข่าวสารหรือข่าวคราวครบถ้วนจนอยู่ในสถานะที่ดีกว่า FOMO กินความถึงการไม่ได้ดูรายการทีวีที่คนพูดถึงกัน ไม่ได้ดูคลิปสำคัญ ไม่รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ไม่รู้จักแนวคิดใหม่ หรือข้อมูลที่คิดว่าสำคัญแต่ตน “ตกข่าว” ไป
FOMO เป็นคำที่บัญญัติขึ้นตั้งแต่ปี 1996 โดยนักการตลาดชื่อ Dr. Dan Herman แต่รู้จักกันแพร่หลายยิ่งขึ้นเมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียกลายเป็นสิ่งประจำชีวิต เนื่องจากข่าวคราวและเรื่องราวต่างๆ มีสื่อที่จะแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว FOMO ทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาอยู่ในใจลึกๆ และทำให้ตนเองรู้สึกด้อยค่าลงเพราะตามไม่ทันเขา และอาจมีพฤติกรรมบางประการที่ไม่พึงประสงค์ได้
งานวิจัยพบว่า FOMO เกิดขึ้นกับคนทุกวัยทุกเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นที่สมองยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ สำหรับวัยรุ่นบางคน FOMO มีบทบาทในการสร้างความกระวนกระวายใจ เกิดอาการซึมเศร้า ทำให้ขาดความเชื่อมั่นและรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญน้อยลง และอาจมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงได้เช่นเลียนแบบการขับรถอย่างอันตรายเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ขบวน”
(ภาพถ่ายโดย Lisa)
FOMO สร้างแรงกดดันของกลุ่มโดยแต่ละคนตอบรับต่อแรงกดดันนี้ต่างกันไป นักการตลาดอาศัย FOMO ในการสร้างความต้องการสินค้า “ตามขบวน” อย่างไม่รู้จบ หากรู้ไม่ทันก็จะบริโภคกันอย่างสิ้นเปลืองตามคนอื่นๆ
สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มี FOMO อยู่ในระดับที่จัดการได้ มันก็เป็นเพียงความรู้สึกในใจด้านลบเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกับคนอื่นเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงในเรื่องอาการซึมเศร้า ความเครียด และความกระวนกระวายใจ งานวิจัยพบว่า FOMO มักมีผลรุนแรงสำหรับคนที่ขาดความสุขในชีวิตและไม่พอใจกับชีวิตอยู่แล้ว คนเหล่านี้มักใช้โซเชียลมีเดียหนักขึ้นเพื่อหลีกหนี “การตกข่าว” หรือ “การตกขบวน” และในการกระทำนี้ก็จะก่อให้เกิดความสุขน้อยลง และคุณภาพชีวิตโดยรวมลดลงด้วย
เมื่อ FOMO อาจมีอิทธิพลต่อจิตใจและพฤติกรรมมากขึ้น เราควรทำอย่างไรเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักนี้ นักจิตวิทยา (E. Scott : How to Deal with FOMO in Your life, July 2022) มีคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แทนที่จะเน้นคิดในเรื่องอะไรที่ไม่มีหรือขาดไป ควรหันมาพิจารณาสิ่งที่เรามี เรื่องนี้เป็นเรื่องยากในชีวิตโซเชียลมีเดีย เพราะเราจะเห็นแต่สิ่งที่เราไม่มีอย่างไม่มีวันจบสิ้น วิธีการก็คือ เลือกฟีดของคนที่ไปในด้านบวก ไม่ขี้คุย โดยพิจารณาว่าฟีดใดที่กระตุ้นให้เกิด FOMO ฟีดใดที่ทำให้รู้สึกดีเกี่ยวกับตัวเรา รู้ว่าออนไลน์ใดที่ทำให้เกิดความรื่นรมย์มากขึ้น อะไรที่ทำให้เรารู้สึกห่อเหี่ยวใจ ก็จงหลีกเลี่ยงและพยายามเลือกฟีดที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
- การใช้เวลามากๆ กับโซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดโอกาสของการมี FOMO มากขึ้น พยายามใช้น้อยลงหรืองดการใช้อย่างเด็ดขาดเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อช่วยให้มีเวลาพิจารณาชีวิตของตัวเราเองโดยไม่ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ถ้าใช้น้อยลงหรืองดการใช้ไม่ได้ ก็จงเลือกแอปพลิเคชันหรือฟีดซึ่งมีทางโน้มไม่ทำให้เราเกิดความรู้สึก “ตกขบวน” ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัดสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเราเองออกไป
- มนุษย์มองหาการยอมรับจากคนอื่นเสมอ การโพสต์รูปภาพและเรื่องราวของตัวเราเองในโซเชียลมีเดียก็เพื่อหาการยอมรับ หากเราต้องการก้าวพ้นความรู้สึกโหยหานี้ก็จงนำภาพและเรื่องราวของตัวเราเหล่านั้นลงในสมุดส่วนตัว กล่าวคือหลีกหนีการยอมรับจากสาธารณะมาเป็นความซาบซึ้งส่วนตัวแทน
- เมื่อมนุษย์รู้สึกซึมเศร้า กระวนกระวายใจ หรือเหงา การพยายามเป็นเพื่อนกับมนุษย์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางจิตวิทยาเพราะช่วยทำให้รู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง อย่างไรก็ดี โลกโซเชียลมีเดียอาจมิได้ช่วยให้พบเพื่อนที่ดีเสมอไปได้ ดังนั้น การพบเพื่อนในโลกจริงที่รู้จักที่มาที่ไปย่อมเหมาะสมกว่าการหาเพื่อนออนไลน์ และมองหาการกด “like” ในโซเชียลมีเดียอย่างแน่นอน
- การเพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวพันกับความรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของบุคคลและสิ่งต่างๆ จะช่วยให้หลุดพ้นจากกับดัก FOMO ได้ เช่น การพูดถึงความซึ้งใจที่บุคคลอื่นๆ ทำให้ การจดบันทึกความรู้สึกนั้น ฯลฯ การเน้นความรู้สึกถึงสิ่งที่มีอยู่มากแล้ว ย่อมดีกว่าความรู้สึกว่ามีอะไรขาดอยู่เสมอซึ่งเป็นบ่อเกิดของ FOMO
หลักการสำคัญของการเอาชนะ FOMO ก็คือ การมีอารมณ์ที่หลุดพ้นจากความรู้สึกซึมเศร้าและความกระวนกระวายใจ ตลอดจนการตระหนักว่าเรามีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่แล้ว การนั่งคิดตรึกตรองถึงสิ่งที่เรามีมากกว่าสิ่งที่เราขาดตลอดจนนึกถึงสิ่งที่เราควรขอบคุณจะช่วยให้เรามีความสุขใจและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วเพียงใด และมีข่าวสารต่างๆ ออกมาให้รับทราบมากมายเพียงใดก็ตาม
การรู้จัก FOMO ทำให้เราตระหนักถึงความรู้สึกด้านลบลึกๆ ในใจของเราได้เป็นอย่างดี แต่ถ้า “ตกข่าว” ไม่รู้ว่า FOMO คืออะไรแล้ว ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากกระมังครับ