บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐกับสถานบันเทิง กรณีเมาท์เทนบี ผับ
ปรากฏการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิง เมาท์เทนบีผับ (MOUNTAIN B) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 หรือ ซานติก้าผับ ที่เกิดเหตุในลักษะใกล้เคียงกัน คือ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2551 ทั้งสองเหตุการณ์เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
การเปิดสถานบันเทิงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหลัก คือ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 และ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทั้งยังมีกฎหมายลูกภายใต้พระราชบัญญัติอีกจำนวนหลายฉบับ เช่น กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ.2555
แต่หากข้อเท็จจริงการเปิดสถานบันเทิงภายใต้กฎหมายสถานบริการ หากไม่ได้ขออนุญาตก็ไม่ได้หมายถึงว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะไม่ต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายต่อประชาชนเกิดขึ้น
โดยเฉพาะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งพิจารณาตามสถานที่เกิดเหตุ นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล ประธานกรรมการบริหาร(นายก) องค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเจ้าหนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ใช้อำนาจในการอนุญาตให้ก่อสร้างตามแบบแปลนที่ผู้ขออนุญาตได้ยื่นไว้แล้วก็ตาม ยังต้องมีหน้าที่สอดส่อง ตรวจสอบ และควบคุมดูแลมิให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตหรือฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญํติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
กฎหมายควบคุมอาคาร คือ กฎหมายที่ต้องการเพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ไม่ว่าระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบการระบายอากาศ และระบบอื่นๆ
ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคารเป็นกรณีโรงมหรสพ ไม่ว่าจะก่อสร้าง คัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ตรงที่ใดก็ตาม ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทุกกรณี
ซึ่งสถานบันเทิง เมาร์เทน บีผับ ถือเป็น โรงมหรสพ ตามความหมาย คือ เป็นอาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับแสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
หากพิจารณาในส่วนทฤษฎีความรับผิดกับภัยที่ถูกเปลี่ยนแปลง ความรับผิดในความเสียหายควรคำนึงถึงความผิด หรือความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย
แม้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนสังคมและมีความร้ายแรง จะไม่เท่ากับการกระทำโดยเจตนา แต่ก็สมควรที่จะมีการเรียกร้องค่าเสียหายกันได้ ในแง่ของการพิสูจน์ ถึงการกระทำหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ การกระทำนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่
ความเสียหายเป็นมาจากการกระทำของผู้นั้นหรือไม่ ซึ่งอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ความรับผิดโดยไม่มีความผิด (Liability without fault) ความรับผิดโดยผลแห่งกฎหมาย (Liability as imposed by the law) และความรับผิดเด็ดขาด (Strict Liability)
ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ในพื้นที่ ในกรณีที่พบว่าสถานบริการและสถานประกอบการใดกระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเง้มงวด ทั้งทางอาญาทางปกครอง และในกรณีที่ปรากฎว่ามีการเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามกฎหมายของเจ้าพนักงานที่มีหน้านั้นๆ
เมื่อนายกเทศมนตรีในเขตเทศบาล หรือประธานกรรมการบริหาร(นายก) องค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากอำเภอย่อมต้องมีอำนาจตามพระราชบัญญํติควบคุมอาคาร พ.ศ 2522
เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงสามารถที่จะทำการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตนเองจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดดังกล่าวได้ทั้งนี้
ทั้งข้อเท็จจริงจากข่าวปรากฏว่า ร้านเมาท์เทน บีผับ(MOUNTAIN B) มีการต่อเติมและเปิดสถานบันเทิง โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งตั้งอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งที่ไม่อนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง
โดยมีรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 21.30 น. ร้านดังกล่าวได้ถูกตำรวจ สภ.พลูตาหลวง พร้อมด้วยปลัดอำเภอสัตหีบ เข้าตรวจค้นและจับกุมนายประสิทธิ์ รอดคร้าม ผู้ดูแลร้าน หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวว่า
สถานบริการแห่งนี้ มีการเปิดเพลงภายในร้านเสียงดังรบกวนผู้อื่น จึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ โดยมีนายประสิทธิ์ แสดงตัวเป็นคนดูแลร้าน และรับสารภาพว่ามีการเปิดเพลงเสียงดังให้บริการลูกค้าที่มาใช้บริการภายในร้านจริง (https://www.nationtv.tv/news/378882001)
เทียบเคียงจากคดีศาลปกครอง อาคารที่ใช้เป็นสถานบันเทิง “ซานติกาผับ” ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้อำนวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ผู้อำนวยการเขตจึงสามารถที่จะทำการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตไม่มาก ทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตเคยเข้าไปตรวจที่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุถึง 3 ครั้ง ตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลขณะนั้น
ผู้อำนวยการเขตจึงไม่อาจอ้างว่าอาคารดังกล่าวได้มีการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต และได้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมใช้โดยไม่มีใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้อง (ศาลปกครองสูงสุดที่ อ.222/2558)
ดังนั้น ตามกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยมีคำสั่งตามมาตรา 40(1) ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดังกล่าวระงับการกระทำดังกล่าว มีคำสั่งตามมาตรา 40(2) ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าวและจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว
รวมทั้งหากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกรณีสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องสั่งเจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องต่อไป
หากนายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วแต่พื้นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ซึ่งหากได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เจ้าของอาคารก็จะไม่สามารถใช้อาคารดังกล่าวโดยผิดกฎหมาย และไม่เกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นเป็นให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บได้
จึงอาจถือได้ว่าเจ้าพนักงานตามกฎหมายควบคุมอาคารกระทำละเมิดโดยการละเลยต่อหน้าที่ โดยปล่อยให้มีการดัดแปลงอาคารเปิดเป็นสถานบริการเมาท์เทนบีผับ
ดังนั้น เป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฎิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งอาจต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว.