ประธานบริษัทกับความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์

ประธานบริษัทกับความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์

ความเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจ เป็นได้ทั้งความเป็นและความตายของบริษัท

 ถ้าผลกระทบของความเสี่ยงต่อธุรกิจเกิดขึ้นรุนแรง ความเสี่ยงต่อธุรกิจมักมาจากภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ภาวะตลาด เทคโนโลยี การเมือง ภัยธรรมชาติ และจากการควบคุมภายใน และพฤติกรรมของบุคลากรของบริษัทเอง ที่ทำให้เกิดความบกพร่องด้านปฏิบัติการ ช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวหลายกรณีที่บริษัทดังๆ ไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้จนเกิดปัญหา เช่นกรณี ธนาคารเวลส์ฟาโก้ที่สหรัฐ ที่ไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ หรือกรณีบริษัทโฟล์คสวาเกน ที่การบริหารความเสี่ยงด้านการควบคุมภายในและการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการบริษัทไม่เข้มแข็ง หรือกรณีน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกที่สหรัฐเมื่อหลายปีก่อนโดยบริษัทน้ำมันบีพี (BP) ที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบชื่อเสียงของบริษัท

สำหรับธุรกิจความเสี่ยงลักษณะนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา และสามารถมีผลอย่างสำคัญต่อธุรกิจ ทำให้บริษัทต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อลดโอกาสของสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นโดยต้องถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่ต้องดูแลให้บริษัทมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีการดำเนินการบริหารความเสี่ยงอย่างที่ควรจะเป็นโดยฝ่ายจัดการ และมีการรายงานผลต่างๆ ให้คณะกรรมการบริษัททราบ

จากความสำคัญดังกล่าว การบริหารความเสี่ยงจึงถือหน้าที่การกำกับดูแลกิจการที่สำคัญของคณะกรรมการ ตัวอย่างเช่น ในซีจี code หรือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของไทยล่าสุด ที่ออกโดยสำนักงาน กลต. ก็ระบุชัดว่า หน้าที่สำคัญอันหนึ่งของคณะกรรมการบริษัท คือ การดูแลให้บริษัทมีระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม พร้อมมีความเห็นว่า คณะกรรมการควรทำงานกับฝ่ายจัดการในการกำกับดูแล และพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายใน

อาทิตย์ที่แล้ว เมื่อวันพฤหัสฯ สถาบันไอโอดี หรือสถาบันกรรมการบริษัทไทยได้จัดเสวนาเฉพาะประธานกรรมการบริษัท คือ Chairman Forum ในหัวข้อ บทบาทของประธานบริษัทในฐานะผู้นำในประเด็นการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ The Role of Chairman in Leading Strategic Risk Oversight มีประธานกรรมการบริษัทเข้าร่วมเสวนากว่า 70 คน ซึ่งเสวนาในประเด็นบทบาทของประธานในการกำกับดูแลความเสี่ยงที่จะมีต่อกลยุทธ์ของบริษัท มีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและประธานกรรมการบริษัทมาร่วมให้ความเห็น การเสวนาได้ชี้ถึงความท้าทาย และประเด็นสำคัญหลายอย่างในการทำหน้าที่ประธานบริษัท ที่วันนี้อยากจะนำบางประเด็นมาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

สำหรับประเทศไทยทุกบริษัทพูดได้ว่ามีกลยุทธ์หรือ strategy ในการดำเนินธุรกิจของตน ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ข้อมูลการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนภายใต้โครงการ CGR ของสถาบันไอโอดีชี้ว่า ประมาณ 82% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริษัทก็ทำหน้าที่บริหารความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม 

ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นหน้าที่ของกรรมการอยู่แล้ว แต่จากที่กลยุทธ์บริษัทมีความสำคัญมากต่ออนาคตของธุรกิจของบริษัท ประเด็นของการเสวนาก็คือ ประธานกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำบริษัทควรมีบทบาทหรือแนวทางอย่างไรในการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อให้ความเสี่ยงที่อาจมีต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของบริษัทอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้หรือลดทอนได้ เพื่อให้กลยุทธ์ของบริษัทประสบความสำเร็จ เพราะถ้าบริหารจัดการความเสี่ยงไม่ได้ กลยุทธ์ของบริษัทก็จะไม่ประสบความสำเร็จและอาจสร้างความเสียหายให้บริษัทตามมา

Dr. Janson Yap จากบริษัท ดีลอยท์ Deloitte ให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมเสวนาว่า โลกธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว มีการเชื่อมต่อสูง และอ่อนไหวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในจุดหนึ่งของโลกที่สามารถกระทบไปถึงอีกจุดหนึ่งของโลกได้ เช่น กรณี Brexit หรือนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ นอกจากนี้โลกธุรกิจที่เชื่อมต่อกันมากก็ทำให้ความคิดของสังคม (Public Opinion) เปลี่ยนแปลงได้เร็วเกินกว่าผู้ที่ทำธุรกิจจะสามารถติดตามหรือปรับตัวได้ทัน 

ดังนั้นภายใต้โลกธุรกิจลักษณะนี้ ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อกลยุทธ์ของบริษัทจึงมีมาก และสามารถสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจได้ ทั้งในระดับโมเดลธุรกิจ (Business Model) กล่าวคือโมเดลธุรกิจของบริษัทเปลี่ยนไม่ทันภาวะธุรกิจที่ได้เปลี่ยนไป หรือความเสียหายมาจากการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติจริง ซึ่งปัญหาอาจมาจากการควบคุมภายใน หรือวัฒนธรรมองค์กร หรือจากการขาดทักษะ หรือความสามารถของคนในองค์กรที่จะขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัท นี่คือความเสี่ยงที่อาจกระทบกลยุทธ์ของบริษัท

ทางออกหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ คณะกรรมการบริษัทต้องติดตามและต้องประเมินการเปลี่ยนแปลงในภาวะธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถนำมาสู่การปรับหรือทบทวนกลยุทธ์ของบริษัทได้อย่างทันเหตุการณ์ถ้าจำเป็น เรื่องนี้ทำให้ภาวะผู้นำของประธานกรรมการบริษัทจึงสำคัญมาก ที่ต้องตั้งธง หรือ set agenda ให้เกิดการติดตาม พร้อมสร้างบรรยากาศให้เกิดการซักถามโดยกรรมการบริษัท ที่จะช่วยฝ่ายจัดการทำให้กลยุทธ์ของบริษัทประสบความสำเร็จ 

ในเรื่องนี้ประธานกรรมการบริษัทจึงต้องเป็นผู้นำ กระตุ้นให้เกิดการติดตามและสร้างวัฒนธรรมให้เกิดการหารือ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง พร้อมดูแลให้มีข้อมูลล่าสุดต่างๆ เพื่อช่วยการตัดสินใจของคณะกรรมการ ถ้าประธานสามารถสร้างระบบและสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความเห็นและหารือได้อย่างเปิดกว้าง กรรมการบริษัทก็สามารถมีส่วนร่วมในการชี้แนะฝ่ายจัดการในการปรับหรือเปลี่ยนการดำเนินการต่างๆ ได้ถ้าจำเป็น เพื่อให้กลยุทธ์ของบริษัทประสบความสำเร็จ

ในเรื่องนี้ ประธานกรรมการบริษัทที่ได้ร่วมเป็นผู้อภิปราย ก็ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ในหลายประเด็น เช่น ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการบริษัทบ้านปู พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ประเด็นความเสี่ยงของกลยุทธ์ควรต้องพิจารณาไปพร้อมๆ ไปกับการพิจารณากำหนดกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่มาทำทีหลัง นอกจากนี้ ประธานบริษัทต้องพยายามกระตุ้นให้กรรมการคนอื่นๆ สนใจในประเด็นความเสี่ยงที่อาจกระทบกลยุทธ์ของบริษัท และต้องผลักดันให้บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่จะทำให้พนักงานสามารถช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัทให้เกิดขึ้นจริงและประสบความสำเร็จ

คุณประกิต ประทีปะเสน ประธานกรรมการ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ความท้าทายของประธานกรรมการบริษัทในเรื่องนี้ ก็คือ ทำอย่างไรให้กรรมการบริษัทตื่นตัวและมีส่วนร่วมกับแผนงานด้านกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการ ซึ่งถ้าทำได้ มีกรรมการเข้ามามีส่วนร่วม การบริหารความเสี่ยงก็จะได้ผลในระดับที่สูงขึ้น จากที่กรรมการบริษัทได้เข้าร่วมให้ความเห็นช่วยกลั่นกรองและมีบทบาท 

ขณะที่คุณจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ประธานธนาคาร ซีไอเอ็มบี จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของระดับบนหรือส่วนหัวขององค์กร คือคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง ต่างกับความเสี่ยงเชิงปฏิบัติการที่พนักงานทุกระดับต้องรับผิดชอบ ในแง่นี้จึงสำคัญที่คณะกรรมการบริษัทต้องเน้นการมองไปข้างหน้า มีหูตาที่กว้าง เพื่อให้การทำธุรกิจของบริษัทตามกลยุทธ์อยู่ในวิถีทางที่ไม่ประมาท และสามารถปรับตัวได้เมื่อจำเป็น เพื่อดูแลความเสี่ยงให้กลยุทธ์ของบริษัทประสบความสำเร็จ

ประเด็นเหล่านี้ คงเป็นอาหารสมองที่สำคัญสำหรับประธานบริษัท ที่ต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัท ให้ประสบความสำเร็จ เป็นหน้าที่ของประธานบริษัทที่สำคัญและท้าทาย