การยกระดับทักษะแรงงานไทย: โจทย์ใหญ่ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

การยกระดับทักษะแรงงานไทย: โจทย์ใหญ่ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

“Machines are coming to take our jobs” คำกล่าวนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง หน่วยงานวิจัยหลายแห่งคาดการณ์ถึงแนวโน้มที่เทคโนโลยี

ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ AI และ IoT (Internet of Things) จะมาทดแทนหรือยึดครองตลาดแรงงาน รายงานล่าสุดของ Mckinsey Global Institute เดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งของงานที่เคยใช้แรงงานคนจะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ หลายประเทศประสบปัญหาไม่สามารถสร้างบุคลากรให้มีทักษะการทำงานและทักษะชีวิตที่สูงพอจะเผชิญกับยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ทำให้เราเกิดคำถามว่าตลาดแรงงาน การศึกษาและฝึกอบรมของไทย พร้อมจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

1.ทุนมนุษย์ของไทย: ผลิตภาพแรงงานไม่โต หุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์?

ข้อมูลจาก Asian Productivity Organisation (2561) ชี้ว่าผลิตภาพแรงงานไทยที่วัดโดย GDP ต่อคนน้อยกว่าสิงคโปร์เกือบ 5 เท่า โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมและยังลดลงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีแรงงานนอกระบบถึง 55% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคม ส่วนใหญ่มีการศึกษาและผลิตภาพน้อย มีรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับแรงงานในระบบ

งานศึกษาของ World Bank (2561) ในมิติความเสี่ยงด้านหุ่นยนต์แย่งงานคน พบว่าเริ่มเห็น แนวโน้มการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นในกลุ่ม Emerging Markets วัดจากจำนวนสต๊อกหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของกลุ่มนี้ คาดว่าไทยจะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้นเพราะคุ้มค่าต่อการลงทุนหากดูจากทั้งปัจจัยด้านค่าจ้างแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระยะเวลาการใช้งาน ในด้านผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน International Labour Organization (2016) คาดว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า 56% ของแรงงานทั้งหมดใน ASEAN-5 จะได้รับผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ค้าส่ง ก่อสร้าง และธุรกิจ Banking, Financial Service, Insurance (BFSI) จะเห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสร้างความเสี่ยงต่อแรงงานหลายอาชีพ และมีความต้องการทักษะเฉพาะมากขึ้น อาทิ กลุ่มผู้บริหารและผู้ประกอบการที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ นักพัฒนาซอฟต์แวร์และฐานข้อมูล

2.การยกระดับทักษะแรงงาน: ไทยพร้อมรับมือกับคลื่น เทคโนโลยีดิสรัปชั่นหรือยัง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนทำงานในอนาคตต้องมี ทักษะชุดใหม่ ที่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งยังต้องพัฒนาทักษะใหม่ตลอดเวลาหากต้องการอยู่ในตลาดแรงงานต่อไป สอดคล้องกับรายงาน “The Future of Jobs Survey 2018” ของ World Economic Forum ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการทั่วโลกถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะแรงงานภายในปี 2565 พบว่า 54% ของแรงงานทั้งหมดต้องได้รับการพัฒนาทักษะทั้ง Reskill และ Upskill ในส่วนของไทยมีรายงานระบุว่าผู้ประกอบการให้ความเห็นสอดคล้องกับภาพรวมทั่วโลกคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยต้องพัฒนาทักษะด้าน “Technical Skill” โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงนวัตกรรม และความคิดเชิงริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึง “Human skill” ที่สามารถเข้าใจจิตใจและอารมณ์ของผู้อื่น ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถเรียนรู้ได้ 

ปัจจุบัน กลไกและสถาบันพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของไทยมีอยู่ทั้งในภาครัฐและเอกชนตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 โดยภาครัฐมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล ซึ่งพันธกิจสำคัญคือ “พัฒนาทักษะคนทำงานทุกระดับและผู้ประกอบกิจการให้มีผลิตภาพสูงสู่ไทยแลนด์ 4.0” มีศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานใน 25 จังหวัด ให้บริการฝึกอบรมแรงงานหลายสาขาอาชีพ เช่น ช่างฝีมือ 7 สาขา เทคโนโลยีชั้นสูงรวมถึงสาขาหุ่นยนต์และ AI การเตรียมเข้าทำงาน และภาษาต่างประเทศ รวมประมาณปีละ 2-3 แสนคน ในกรุงเทพฯ มีศูนย์ฝึกอาชีพ 17 แห่ง อบรมแรงงานปีละ 2 หมื่นคน และยังมีสถาบันอบรมเฉพาะทาง เช่น สถาบันไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ให้บริการฝึกอบรมแก่ประชาชน โดยในปี 2561 กระทรวงแรงงานได้พัฒนาศักยภาพทั้งลูกจ้างในสถานประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั้งสิ้น 4.78 ล้านคน ส่วนภาคเอกชน ธุรกิจขนาดใหญ่มักมีสถาบันฝึกอบรมให้พนักงานของตนเอง เช่น โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ ของ SCG บริษัทปัญญธารา ของ ซีพี ออลล์ บริษัท มิชลิน ประเทศไทย และ SCB Wealth Academy จากข้อมูลกระทรวงแรงงานปี 2560 ภาคเอกชนฝึกอบรมแรงงานทั้งสิ้น 4.3 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกอบการ 10,952 บริษัท

การยกระดับทักษะแรงงานไทย: โจทย์ใหญ่ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

จากข้อมูลการฝึกอบรมแรงงานปี 2560 ที่จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พบว่ามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับฝีมือ รองลงมาคือ สร้างอาชีพเสริม และเตรียมคนเข้าทำงาน สาขาการฝึกอบรมที่มีความต้องการสูงสอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเกือบ 40% เป็นสาขาช่างฝีมือด้านการผลิต ส่วนใหญ่เป็นสาขาช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ 17% เป็นสาขาโรงแรมและภัตตาคาร อยู่ในกลุ่มแม่บ้าน แม่ครัว และพนักงานเสิร์ฟ แต่ละสาขามีอัตราการเรียนจบเกือบ 100% และอัตราการสอบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของช่างฝีมือด้านการผลิตและด้านบริการอยู่ในระดับสูงที่ 70-90% ขณะที่สาขาอื่นอยู่ในอัตราต่ำกว่า

3.Lifelong Learning, Employability Skills และการสร้างนวัตกรรม: กุญแจสำคัญของการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานแห่งอนาคต

คำตอบของแรงงานแห่งอนาคตคือ การพัฒนายกระดับทักษะแรงงานที่เน้นการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด (Lifelong Learning) ในสาขาที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต ความรู้พื้นฐานเพื่อการจ้างงาน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเราจะไปถึงเป้าหมายได้ด้วยแนวทาง ดังนี้ 1) ภาคเอกชนควรร่วมกับภาครัฐลงทุนด้านการพัฒนาแรงงานด้วยการออกแบบหลักสูตรที่สนองตอบความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เหมือนเยอรมนีและสิงคโปร์ และขยายบทบาทการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานของธุรกิจขนาดเล็กและแรงงานนอกระบบ 2) การเชื่อมโยงทักษะแรงงานที่ต้องการในอนาคตกับระบบการศึกษาให้มากขึ้นโดยเฉพาะทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงนวัตกรรม และทักษะความคิดเชิงริเริ่มสร้างสรรค์ และ 3) ควรมีกลไกไตรภาคีระหว่างรัฐ เอกชน และแรงงาน ร่วมกันพัฒนาทักษะคนไทยเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่

[ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]

โดย... 

ดร. เสาวณี จันทะพงษ์

กัมพล พรพัฒนไพศาลกุล