ชวนตรึกตรองมาตรการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ชวนตรึกตรองมาตรการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่(23 เม.ย.2562)นั้น ข่าวคราวที่ออกมาเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงใกล้

 ก็ยังไม่มีความชัดเจนหรือเป็นทางการแต่อย่างไร เพราะนายกรัฐมนตรีเองก็ได้ตอบคำถามของนักข่าวเพียงสั้นๆ ในวันนี้เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ว่า ให้รอพรุ่งนี้ก่อน ในขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว

ดังนั้น การชวนคุยวิเคราะห์เรื่องนี้จึงหนีไม่พ้นที่จะเป็นการคุยในเชิงหลักการโดยทั่วไปของมาตรการในลักษณะนี้เท่านั้น และยังเป็นการวิเคราะห์ที่อิงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีการพูดถึงตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เป็นข่าวเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ช่วยกันตรึกตรองเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของมาตรการเหล่านี้กันล่วงหน้าก่อนที่จะได้ใช้จริง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

หากเราพิจารณาจากข่าวไม่เป็นทางการในช่วงที่ผ่านมา จะพอสรุปได้ว่า มาตรการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยการแจกเงินราว 1,500 บาทให้กับผู้ที่จะซื้อสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวรอง และอาจรวมถึงการขยายมาตรการลดหย่อนภาษีการท่องเที่ยวเพื่อรับมือกับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจของไตรมาสที่หนึ่งและต่อไปด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะประกอบด้วย 3 มาตรการหลักคือ 

มาตรการที่ 1 เป็นการแจกเงินให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 1,500 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ทำผ่านช่องทางที่กำหนดในเมืองรอง 55 จังหวัด และคาดว่าจะใช้งบประมาณกลางจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท 

มาตรการที่ 2 จะเป็นเรื่องของการขยายมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว โดยให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน 15,000 บาทเช่นเดียวกับมาตรการก่อนหน้านี้ที่ได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อเดือนธ.ค. ปีที่ผ่านมา 

และ มาตรการที่ 3 จะให้กรมสรรพากรขยายระยะเวลาเปิดจุดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับนักนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยให้ขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือนและให้มีผลตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.2562 ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยกระตุ้นและจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาตินำเงินเข้ามาจับจ่ายใช้สอยกันในประเทศไทยมากขึ้นนั่นเอง

หลักคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการการแจกเงินให้กับผู้ซื้อสินค้าบริการในเมืองท่องเที่ยวรองคนละ 1,500 บาทนั้น ก็มาจากหลักคิดในเรื่อง ผลของตัวคูณที่เกิดจากการใช้จ่ายและรายได้” ตามทฤษฎีของสำนักเคนส์เซียนที่ว่า ในระยะสั้นนั้นหากประชนชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว (จากการแจกเงิน 1,500  บาทต่อคน และอื่น ๆ) ประชาชนเหล่านั้นก็จะออกไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่เพิ่มมากขึ้นในเมืองท่องเที่ยวรองต่าง ๆ ซึ่งรายจ่ายเหล่านั้นก็จะกลายเป็นรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าในเมืองท่องเที่ยวเหล่านั้นอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้แล้ว พ่อค้าและแม่ค้าเหล่านี้เมื่อมีรายได้จากธุรกิจมากขึ้น ก็จะไปใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้ามากขึ้นด้วยซึ่งก็จะไปสร้างรายได้ให้กับเหล่าผู้ผลิตวัตถุดิบทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง กลายเป็นผลของตัวคูณทางรายได้และความเชื่อมโยงไปข้างหลังของกระบวนการผลิตในเมืองท่องเที่ยวรองและพื้นที่ใกล้เคียงในที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของทั้งระบบเศรษฐกิจต่อไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญของแนวคิดเหล่านี้ ก็คือว่าการใช้มาตรการเหล่านี้อาจจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเท่าที่รัฐบาลได้คาดหวังไว้ก็เป็นได้ เนื่องจากว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่สู้จะดี (จนเป็นที่มาของการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นนี้) ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนักของตน และมักจะพิจารณาอย่างระมัดระวังในกรอบมิติของเวลาที่ยาวนานขึ้นด้วย โดยจะไม่มองอะไรเพียงสั้นๆ เหมือนที่ทฤษฎีข้างต้นได้กล่าวไว้ เพราะประชาชนจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่ไม่นอนของเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองจะสามารถฝ่ามรสุมเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ด้วย ดังนั้นการใช้จ่ายของประชาชนอาจจะไม่เพิ่มมากขึ้นแม้จะได้เงินแจกฟรีเพิ่มอีก 1,500 บาทก็ตาม เพราะเงินดังกล่าวเป็นเพียงรายได้ในระยะสั้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งก็จะไม่ทำให้รายได้ในระยะยาวของประชาชนเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากนัก ประชาชนก็จะไม่ใช้จ่ายเพิ่มก็ได้เพราะว่า ที่จริงแล้วรายจ่ายของเขาน่าจะขึ้นกับรายได้ในระยะยาวมากกว่ารายได้ในระยะสั้นนั่นเอง หรืออย่างมากที่จะเป็นไปได้ หากมีการแจกเงินดังกล่าวที่พ่วงเงื่อนไขของการใช้จ่ายด้วยแล้ว พวกเขาก็อาจจะทำเพียงแค่เลื่อนเวลาของการใช้จ่ายของเขาที่มีแผนอยู่แล้วในอนาคตให้มาใช้จ่ายเร็วขึ้นให้ทันกับช่วงที่มาตรการแจกเงินมีผลเท่านั้น แล้วงดการใช้จ่ายในเวลาต่อมาแทน ซึ่งก็เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมตลอดทั้งปีของเขาก็ยังอยู่ในระดับเท่าเดิมแม้จะมีมาตรการแจกเงินก็ตามนั่นเอง ดังนั้นนโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ก็ได้ แต่กลับจะไปเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังของรัฐบาลอีก 1.5 หมื่นล้านบาทโดยอาจไม่คุ้มกับผลที่ได้จริงก็ได้

โดยสรุปแล้ว จึงควรต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดต่างๆ ของมาตรการเหล่านี้ให้อย่างรัดกุม พร้อมทั้งวางแผนเรื่องการประเมินผลของโครงการเหล่านี้เพื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกในเชิงมาตรการอื่นๆ ที่เคยดำเนินการมาแล้วทั้งที่เป็นลักษณะใกล้เคียงกันหรือที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี