เมื่อ “บิทคอยน์” หันมาแข่งกับ...วีซ่า...มาสเตอร์การ์ด
คุณผู้อ่านหลายท่านคงรู้ดีว่า เวลานี้ราคาบิทคอยน์และบรรดาเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆกำลังขยับสูงขึ้น ในเวลาที่ผมเขียนบทความนี้อยู่
ราคาบิทคอยน์ได้พุ่งไปทะลุ 5,200 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์เข้าไปแล้ว หลังจากที่ขึ้นไปแตะสูงสุดเกือบ 20,000 ดอลลาร์ต่อบิทคอยน์ในช่วงปลายปี 2560 นอกจากนั้นยังพบอีกว่า บิทคอยน์ได้เข้ามามีส่วนในระบบการจ่ายเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเดิมทีตลาดนี้จะมีเจ้าตลาดอยู่ 3 เจ้าด้วยกันคือ Visa, Mastercard และ Paypal โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ
หนึ่ง จำนวนบัญชี และยอดจ่ายเงินต่อบัญชี
จากการศึกษาข้อมูลพบว่า Visa และ Mastercard ถือกำเนิดมาก่อนเพื่อนคือ ก่อตั้งขึ้นในปี 1958 และ 1966 ตามลำดับ หลังจากนั้นอีกกว่า 30 ปี Paypal จึงเกิดขึ้นในปี 1998 และท้ายที่สุดคือ บิทคอยน์ถือกำเนิดในปี 2009 ซึ่งนับถึงตอนนี้ก็มีเพียงอายุเพียง 10 ปีเท่านั้นเอง ส่วนจำนวนบัญชีที่มีมากที่สุดได้แก่ Visa และ Mastercard โดยมีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 3,300 ล้านบัญชี และ 2,000 ล้านบัญชี ตามลำดับ ตามมาด้วย Paypal ที่ 267 ล้านบัญชี และท้ายสุดก็คือ บิทคอยน์ ที่ 25 ล้านบัญชีเท่านั้น แต่พอไปดูมูลค่าการจ่ายเงินระหว่างประเทศต่อบัญชีพบว่า Visa อยู่ที่ 96.96 ดอลลาร์ต่อบัญชี Mastercard 98 ดอลลาร์ต่อบัญชี Paypal 374.53 ดอลลาร์ต่อบัญชี และบิทคอยน์สูงถึง 2,680 ดอลลาร์ต่อบัญชี นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้จำนวนบัญชีของผู้ใช้งานบิทคอยน์จะน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน แต่ปริมาณจ่ายเงินในแต่ละครั้งนั้นสูงมาก คิดเป็นประมาณ 26 เท่าของมูลค่าการจ่ายเงินเฉลี่ยของ Visa และ Mastercard ทีเดียว
สอง จำนวนธุรกรรมต่อปี (Transactions per year)
หากเราลองพิจารณาดูจำนวนธุรกรรมต่อปีของการจ่ายเงินระหว่างประเทศทั้ง 4 แบบก็จะพบว่า Visa, Mastercard และ Paypal มีปริมาณการจ่ายเงินที่สูงมากนั่นคือ 124,000 ล้านครั้งต่อปี 74,000 ล้านครั้งต่อปี และ 10,000 ล้านครั้งต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่บิทคอยน์มีจำนวนธุรกรรมผ่านระบบที่น้อยมากหากเทียบกับ 3 ระบบแรกนั่นคือ เพียง 81 ล้านธุรกรรมต่อปีเท่านั้น แล้วเหตุใดล่ะ?... บิทคอยน์จึงสามารถเข้ามามีบทบาทสูงมาในระบบการจ่ายเงินระหว่างประเทศ เราไปดูข้อสาม..กันนะครับ
สาม จำนวนปริมาณเงินไหลผ่านระบบ
จากภาพจะเห็นได้ว่า Visa มีปริมาณเงินไหลผ่านมากที่สุดในโลกคือประมาณ 11.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่ Mastercard รองลงมาที่ 5.9 ล้านล้านดอลลาร์ อันดับสามกลับไม่ใช่ Paypal แต่กลับเป็นบิทคอยน์ที่ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ และ Paypal มาท้ายสุดที่ 0.578 ล้านล้านดอลลาร์ จากนั้นเราไปดูจำนวนเม็ดเงินเฉลี่ยต่อหนึ่งธุรกรรม เราก็พบว่า ทั้ง Visa, Mastercard และ Paypal มีจำนวนจ่ายเงินระหว่างประเทศเฉลี่ยต่อธุรกรรมนั้นน้อยมากที่ 90, 80 และ 58 ดอลลาร์ต่อธุรกรรม ตามลำดับ ในขณะที่บิทคอยน์กลับมีมูลค่าการจ่ายเงินระหว่างประเทศต่อธุรกรรมสูงถึง 41,615 ดอลลาร์ นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้บิทคอยน์จะมีจำนวนการจ่ายเงินไม่มากครั้งเท่าเพื่อนๆอีก 3 ระบบก็ตาม แต่จำนวนการจ่ายเงินเฉลี่ยต่อธุรกรรมกลับสูงมากมหาศาลถึง 41,615 ดอลลาร์ต่อหนึ่งธุรกรรม หรือคิดเป็นกว่า 460 เท่าของจำนวนการจ่ายเงินระหว่างประเทศต่อธุรกรรมของ Visa ทีเดียว
แล้วเหตุใดล่ะ? ผู้คนถึงกล้าจ่ายเงินระหว่างประเทศจำนวนมากๆผ่านระบบบิทคอยน์ เราก็จะไปดูข้อที่สี่...ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายกัน
ข้อสี่ ค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงินระหว่างประเทศ
จากตารางข้างต้นเราก็จะเห็นว่า ค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงินของ Paypal สูงมากถึง 4.5% ทีเดียว นั่นหมายความว่า ถ้าเราจะจ่ายเงินระหว่างประเทศซักล้านบาท เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงถึง 45,000 บาททีเดียว ซึ่งนับเป็นค่าธรรมเนียมที่โหดมาก ในขณะที่ Visa และ Mastercard คิดธรรมเนียมใกล้เคียงกันคือประมาณ 0.13-0.4% ซึ่งนับได้ว่า ค่อนข้างจะสมเหตุสมผลในการจ่ายเงิน ถ้าจ่ายเงินระหว่างประเทศซักล้านบาท ก็จะเสียค่าธรรมเนียมมากที่สุดประมาณ 4,000 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากเราจ่ายเงินระหว่างประเทศด้วยบิทคอยน์ เช่น จ่ายเงินซักล้านบาทเช่นกันผ่านระบบบิทคอยน์ เราจะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 5 บาทเท่านั้น ใช่แล้วครับ... ห้าบาทจริงๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่า จะมีผู้คนจำนวนมากมายที่จะเข้ามาใช้บริการของบิทคอยน์ในการจ่ายเงินระหว่างประเทศ
และนั่นเป็นเหตุผลที่สำคัญว่า ทำไม? บิทคอยน์จึงมีอิทธิพลต่อการจ่ายเงินระหว่างประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างมิอาจหยุดยั้งได้ !!
หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com