การเมืองญี่ปุ่นยุคอาเบะและชื่อของรัชสมัยที่กำลังจะมาถึง (2)
แม้การแปลชื่อรัชสมัย “เรวะ” ว่า “ความกลมกลืนอันงดงาม” โดยอ้างอิงกับเนื้อหาในหนังสือรวมบทกวีโบราณของญี่ปุ่น
ตามที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะอธิบายจะทำให้ “เรวะ” มีความหมายในเชิงสุนทรีภาพและเป็นที่พอใจของบุคคลทั่วไป แต่การที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกให้ความกลมกลืน (“วะ”) เป็นนิยามหรือคุณค่าของญี่ปุ่นในยุคสมัยถัดไป ประกอบกับคำแปลทั่วไปในปัจจุบันของตัวอักษร “เร” คือ “คำสั่ง” หรือ “ระเบียบ” อีกทั้งตัวอักษร “วะ” ก็เคยถูกใช้ในความหมายของประเทศญี่ปุ่นหรือชาวญี่ปุ่นมาก่อน ชื่อ “เรวะ” จึงมีอีกความหมายหนึ่ง และความหมายที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงนี้มีนัยทางการเมืองที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ชาตินิยมของอาเบะและฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างชัดเจน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือชื่อ “เรวะ” จะไม่เป็นเพียงการหวนระลึกถึงถึงสุนทรียภาพในอดีตที่ห่างไกลจากความเป็นจริงของสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัย หากเปลี่ยนหลักอ้างอิงของการตีความชื่อ “เรวะ” จากหนังสือรวมบทกวีโบราณไปเป็นหนังสือแถลงอุดมการณ์ทางการเมืองของอาเบะที่ชื่อ มุ่งสู่ญี่ปุ่นอันงดงาม (2006/2013)
ประเด็นสำคัญของ มุ่งสู่ญี่ปุ่นอันงดงาม คือความรู้สึกชื่นชมในธรรมชาติที่งดงามและการมีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ยาวนานของญี่ปุ่น ซึ่งความรู้สึกชื่นชมนี้เป็นรากฐานของความรู้สึกชาตินิยมของอาเบะและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ปรารถนาจะนำญี่ปุ่นออกจาก “ยุคหลังสงคราม” ไปสู่ “ญี่ปุ่นอันงดงาม” ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่ามีเนื้อหาที่ละเลย “ความเป็นญี่ปุ่น” และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของปัจเจกชนมากเกินไป อีกทั้งจำกัดทางเลือกด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นจนทำให้ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความมั่นคงในระดับนานาชาติ
ในบริบทของอุดมการณ์ดังกล่าว ความพ้องกันระหว่างตัวอักษร “วะ” ของชื่อรัชสมัย “เรวะ” และ “โชวะ” จึงมีนัยทางการเมือง เมื่อพิจารณาความพ้องพานนี้เทียบเคียงกับการประกาศใช้ชุดกฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลอาเบะในปี 2015 ที่ “คืน” อำนาจในการใช้กำลังอาวุธเพื่อปกป้องประเทศพันธมิตรให้กับกองกำลังป้องกันตนเอง ทั้งนี้ อาเบะและฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่าอำนาจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นปกติ” ของญี่ปุ่นในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่ง เช่นเดียวกับประเทศอื่นในโลก ดังนั้น การนำเอา “ความเป็นปกติ” ที่ญี่ปุ่นสูญเสียไปจากการตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองกลับคืนมาจึงไม่ได้เป็นเพียงการขจัดข้อจำกัดด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นออกไปเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้ญี่ปุ่นก้าวออกจาก “ยุคหลังสงคราม” กลับไปสู่การเป็นประเทศที่เป็นปกติและเท่าเทียมกับนานาชาติเช่นเดียวกับญี่ปุ่นในยุคโชวะก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลงอีกด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง การกำหนดให้ความกลมกลืน (“วะ”) เป็นคุณค่าของยุคสมัยถัดไปและการนำเอาตัวอักษร “เร” ที่สามารถแปลได้ว่า “คำสั่ง” หรือ “ระเบียบ” มาใช้เป็นคำคุณศัพท์ จนเป็นเหตุให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งแปลชื่อ “เรวะ” ว่า “ความกลมกลืนอันพึงบรรลุ” ก็พ้องกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคแอลดีพีของอาเบะเผยแพร่ต่อสาธารณะในปี 2012 ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ความสำคัญกับ “ผลประโยชน์และความเป็นระเบียบของสาธารณะ” และความเป็นญี่ปุ่นเหนือสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของปัจเจกชน ดังนั้น ความกลมกลืนโดยนัยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่ใช่ความกลมกลืนโดยสมัครใจที่อาเบะอ้างถึง แต่เป็นความกลมกลืนแบบชาตินิยมที่เกิดขึ้นจากการลดทอนสิทธิที่จะแตกต่างลงในนามของประเทศชาติ
ด้วยเหตุนี้ ความหมายของชื่อรัชสมัย “เรวะ” ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองของญี่ปุ่นตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอาเบะในปี 2012 เป็นต้นมาจึงเป็น “ญี่ปุ่นอันงดงาม” และการประกาศให้ชื่อ “เรวะ” เป็นชื่อของยุคสมัยถัดไปก็มีนัยว่าญี่ปุ่นได้เริ่มต้นก้าวออกจาก “ยุคหลังสงคราม” อันไม่งดงามแล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้าไปสู่ฤดูใบไม้ผลิของตนเอง ไม่ต่างอะไรกับการผลิบานของดอกบ๊วยที่เป็นการประกาศว่าฤดูหนาวอันยาวนานกว่าสี่สิบปีได้ผ่านพ้นไปแล้ว
โดย...
ภาคภูมิ วาณิชกะ
ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย