ผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติหรือ Robo-advisor

ผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติหรือ Robo-advisor

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุก ๆท่าน วันนี้ผมอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติหรือ Robo-Advisor

ซึ่งเป็นกระแสนิยมที่มาแรงในต่างประเทศมาหลายปีแล้วและก็เริ่มได้รับความนิยมในบ้านเราเช่นเดียวกัน

ประเด็นแรกคือผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติที่ว่านี้มันคืออะไร มันเป็นหุ่นยนต์หรือเปล่า ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นการนำเอาเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์มาช่วยแยกแยะกองทุนหรือสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับบุคลิก ลักษณะของการรับความเสี่ยงในการลงทุนกับผลตอบแทนที่เราอยากได้ บางแห่งอาจรวมถึงเป้าหมายในการลงทุนเช่น เพื่อวางแผนเกษียณ หรือเพื่อการวางแผนการใช้เงินหลังเกษียณเข้าไปด้วย

หลังจากนั้นมันก็จะทำการลงทุนให้กับเราตามรูปแบบการลงทุนที่เราเลือกโดยอัตโนมัติ โดยมีตัวแปรหลักอย่างแรกคือเทคโนโลยีที่นำมาช่วยในการวิเคราะห์ แยกแยะ และคัดเลือกกองทุน รวมถึงการวิเคราะห์สถาณการณ์เศรษฐกิจ และปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติ โดยระยะหลัง ๆที่ระบบการสื่อสารผ่านสื่ออิเลคโทรนิคเป็นตัวแปรที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ระบบของผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นสามารถทำให้ระบบดังกล่าวเข้าถึงผู้ที่สนใจในการลงทุนได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากกว่าแต่เดิมที่ผู้ลงทุนกับผู้ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำการลงทุนต้องมาเจอกันตัวต่อตัว

ดังนั้นสิ่งที่เราที่เราต้องประเมินในการเลือกลงทุนผ่านผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติก็คือ

  1. ความสามารถในการประเมินความต้องการของเราเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ หรือบางทีเราอาจจำเป็นต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกว่าก็ได้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เราต้องการ หรือเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายในการลงทุนที่ต้องการ
  2. ประสิทธิภาพในการจัดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับบุคลิกและเป้าหมายทางการเงิน (ตามข้อ 1) ซึ่งในทางทฤษฎีและทางปฎิบัติสามารถทำได้หลายรูปแบบด้วยกัน
  3. ความยืดหยุ่นหรือความสะดวกสบายในการลงทุนแบบอัตโนมัติ เช่น บางที่จะตัดเงินจากบัญชีของเราแบบอัตโนมัติ บางที่อาจมีความยืดหยุ่นให้เราในการปรับเปลี่ยนวันที่ตัดเงินลงทุนหรือการปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่จะลงทุนเป็นต้น
  4. ประสิทธิภาพในการคัดเลือกสินทรัพย์หรือกองทุน ว่าสามารถที่จะให้ผลตอบแทนที่เป็นไปตามที่โมเดลคาดการณ์เอาไว้หรือบางที่อาจมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุนตามตลาดก็ได้ หรือบางระบบอาจพิจารณาลงทุนเฉพาะสินทรัพย์หรือกองทุนที่เกาะติดกับผลตอบแทนของตลาด
  5. การเข้าถึงสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย เช่นมีการเข้าถึงการลงทุนใน หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือตราสารหนี้ต่างประเทศ บางระบบอาจสามารถให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ แยกย่อยถึงกองทุนหุ้นขนาดเล็ก หรือกองทุนที่ลงทุนเฉพาะแต่ละประเทศ เช่น จีน เวียตนาม หรือสามารถลงทุนได้ในระดับรายอุตสาหกรรม
  6. ความสามารถของระบบที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของตลาดเงินตลาดทุน หรือภาวะเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมตามสภาวะ เช่นในภาวะที่ภาวะเศรษฐกิจสดใสตลาดหุ้นมักจะปรับตัวได้ดีกว่าในภาวะปรกติ ระบบอาจจะพิจารณาปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้มากกว่าสัดส่วนปกติ ซึ่งบางระบบก็ไม่เชื่อในเรื่องดังกล่าวโดยมีหลักคิดว่าสัดส่วนการลงทุนที่กำหนดมาให้ตั้งแต่ต้นเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมอยู่แล้ว
  7. มีระบบในการปรับสัดส่วนการลงทุนให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามเดิม (portfolio rebalancing)หรือไม่ เนื่องจากเวลาเราเริ่มต้นลงทุนผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภทจะเคลื่อนไหวไปในอัตราหรือทิศทางที่ไม่เหมือนกัน เช่น โดยปกติสินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้น หรือทองคำจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าสินทรัพย์ปลอดภัยกว่าเช่นตราสารหนี้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือทองคำของเราก็จะมีสัดส่วนการลงทุนที่สูงขึ้นกว่าสัดส่วนดั้งเดิมที่เราได้เลือกเอาไว้ ซึ่งถ้าระบบมีการรีบาลานซ์ ก็จะทำการขายหุ้นหรือทองคำออกและนำเงินมาซื้อตราสารหนี้เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม
  8. ระบบการรายงานผลการลงทุน การเคลื่อนไหวของพอร์ตการลงทุนของเรา ผลตอบแทนที่เราได้รับในแต่ละเช่วงการลงทุนที่ผ่านมา เปรียบเทียบผลการลงทุนกับผลตอบแทนเป้าหมายที่เราได้วางเอาไว้หรือเมื่อเทียบกับเป้าหมายทางการเงินที่เราได้วางเอาไว้

ครับที่เขียนมาทั้ง 8 ข้อก็เป็นเพียงแนวทางในการพิจารณาสำหรับผู้ที่สนใจลงทุน ซึ่งผู้สนใจอาจต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆเพิ่มเติม และท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุก ๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนนะครับ