บทเรียนชีวิตเซเล็บ 'ไทเกอร์ วูดส์
คงไม่สายจนเกินไปที่จะพูดถึงไทเกอร์ วูดส์ ยอดนักกอลฟ์อเมริกันเชื้อสายไทยที่คว้าแชมป์จากศึกกอล์ฟเมเจอร์ เดอะ มาสเตอร์ เมืเดือนเมษายนทีผ่านมา
ซึ่งเป็นแชมป์แรกในรอบ 11 ปีหลังจากที่เขาสามารถคว้าแชมป์เมเจอร์รายการสุดท้ายคือ ยูเอส โอเพ่น เมื่อปี 2008 ถึงแม้ดิฉันจะไม่ใช่ขากอล์ฟระดับฮาร์ดคอร์ แต่ก็เคยติดตามและชื่นชมผลงานเขา ตั้งแต่เขาได้เทิร์นโปรในปี ค.ศ. 1996 และก้าวขึ้นเป็นนักกอล์ฟอันดับหนึ่งของโลกในปีต่อมาด้วยวัยเพียง 22 ปี
กระแสความมีชื่อเสียงของวูดส์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั่วโลกเริ่มจับไม้กอล์ฟตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบเพื่อก้าวสู่เส้นทางการเป็นนักกอล์ฟระดับโลกแบบ “เจ้าเสือน้อย” ที่เป็นฉายาที่นักข่าวบ้านเราตั้งให้ในเวลานั้น ส่วนตอนนี้ “เสือน้อย” สูงวัยขึ้นจึงมีฉายาใหม่ว่า “พญาเสือ”
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาสิบปีหลังจากที่เขาคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น เป็นรายการสุดท้าย ชีวิตของวูดส์ก็ตกต่ำทั้งในเรื่องครอบครัว การงานและสุขภาพ จากการเป็นดารากอล์ฟระดับโลกที่มีนักข่าวรุมตอมถ่ายรูปและทำข่าว มีบริษัทขายอุปกรณ์กอล์ฟต่างๆตอมกันหึ่งเพื่อขอให้เขาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า นึกอยากจะควงสาวงามหรือนางแบบระดับโลกคนไหนก็ได้เพราะทั้งเก่งทั้งรวยเหลือล้น แต่พอชีวิตตกต่ำเพราะข่าวนอกใจภรรยาหลายครั้งหลายหน
ตามมาด้วยการสูญเสียบิดา เอิร์ล วูดส์ ที่เป็นโค้ชตัวจริงของเขาตั้งแต่อายุเพียงแค่สองขวบ วูดส์ก็ยิ่งดำดิ่งสู่เหวแห่งปัญหา ฝีมือการเล่นกอล์ฟถดถอย อีกทั้งร่างกายก็เสื่อมโทรมมีปัญหาเรื่องหลังเรื่องเข่าบาดเจ็บ ต้องผ่าตัดหลายต่อหลายครั้ง ความเจ็บปวดของร่างกายทำให้วูดส์ติดยาแก้ปวด เขาทานมันจนแบลอแล้วไปขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องราวที่สื่อต่างๆขุดคุ้ยกันมาทำข่าว จากที่รุมกันทำข่าวเรื่องดีๆในสมัยที่โด่งดังมีชื่อเสียง พอตกต่ำก็มีข่าวช่วยสร้างชื่อเสีย
ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆท่านๆที่ไม่เคยมีสื่อทั่วโลกให้ความสนใจกับชีวิตส่วนตัวเราแบบเซเล็บพวกนี้ย่อมยากที่จะเข้าใจว่าชีวิตประจำวันมันมีความกดดันแค่ไหน ตอนที่โด่งดังเป็นพลุแตกมีคนชื่นชมเอาดอกไม้เอาข้าวของมาให้ ทำอะไรน่ารักๆก็มีคนกรี๊ดกันทั้งเมือง จะมีใครสักกี่คนที่ไม่หลงตัวเอง ลืมตัวไปบ้าง กร่างไปบ้าง และพอชีวิตพลิกผันตกต่ำ จะมีสักกี่คนที่ทำใจได้ มีสติ ไม่ปล่อยจิตตกเตลิดเปิดเปิงจนแย่ยิ่งไปกว่าเดิม จะมีสักกี่คนที่สามารถรวบรวมกำลังใจปรับใจปรับกายลุกขึ้นมาสู้กับชีวิตใหม่จนคว้าความสำเร็จกลับมาเป็นของตนเองได้อีก
ชีวิตของพญาเสือคนนี้เป็นชีวิตที่น่าศึกษาเพื่อดูไว้เป็นแบบอย่างสำหรับคนที่เป็นเซเล็บในวันนี้ คนที่อยากเป็นเซเล็บในวันหน้า และพ่อแม่ของเด็กที่อยากปั้นให้ลูกของตนประสบความสำเร็จเป็นซุปเปอร์สตาร์ มีผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาหลายท่านได้ศึกษาวิเคราะห์ชีวิตของวูดส์ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กที่รวมถึงวิธีเลี้ยงและโค้ชลูกของบิดาของเขาว่ามีอิทธิพลต่อความสำเร็จและสร้างปัญหาให้กับลูกด้วยในเวลาเดียวกันอย่างไร ซึ่งชีวิตของเขามีสาระน่าคิดสำหรับเราหลายประการในเรื่องของการเลี้ยงลูกและการใช้ชีวิตแบบเซเล็บ ตามมาอ่านกันเลยค่ะ
สร้างฉันทะ (passion) ทำตัวเป็นแบบอย่าง (role-model) มีวินัย (self-discipline) มุ่งมั่นฝึกฝน (practice) สี่คำนี้คือหัวใจของการโค้ชลูกให้เป็นโปรกอล์ฟมือหนึ่งของโลกของเอิร์ล วูดส์ บิดาที่มีอดีตเป็นทหารอเมริกันที่เคยมารบในเวียดนามและมาเที่ยวเมืองไทยจนพบและแต่งงานกับมารดาของวูดส์ เมื่อวูดส์มีอายุเพียง 6 เดือน เขาก็ได้เห็นบิดาซ้อมกอล์ฟเป็นประจำ ทำให้เขามีความสนใจในกีฬานี้ตั้งแต่ยังเป็นเบบี๋ และพออายุได้ 2 ขวบ บิดาก็หาไม้กอล์ฟอันเล็กๆให้เขาได้หวดเล่นในโรงรถแล้ว จากนั้นเขาก็สนใจในกีฬากอล์ฟอย่างจริงจังโดยบิดาได้จัดจ้างโค้ชมืออาชีพมาฝึกสอนให้วู้ดส์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
วูดส์ได้เข้าแข่งกอล์ฟตั้งแต่อายุน้อยๆ ค่อยๆกวาดรางวัลเยาวชนจนในที่สุดได้รับทุนนักกีฬากอล์ฟจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดให้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะเศรษฐศาสตร์ได้ ต้องชมเชยผู้เป็นบิดาที่มีสายตายาวไกลและมีวิญญาณของโค้ชเต็มตัวที่สามารถทำให้ลูกมีความรักในกีฬากอล์ฟ มีวินัย มีความมุ่งมั่นขยันซ้อม ไม่ออกไปเที่ยวเตร่เสเพลเหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ ทั้งนี้บิดาของเขามีกฎเหล็กในการเลี้ยงดูลูกชายว่าต้องเชื่อฟังคำสอนของพ่อ ไม่เหลวไหล ไม่ต้องไปเล่นกีฬาอย่างอื่น ให้ใจจดใจจ่อมุ่งมั่นเอาดีกับกอล์ฟอย่างเดียว ไม่ต้องเสียเวลาไปคบเพื่อนเที่ยวเตร่ ให้เอาเวลามาฝึกซ้อม จะได้เก่งเร็วๆ ซึ่งมันก็ได้ผลสมใจเห็นๆกันอยู่ว่าวูดส์เป็นโปรกอล์ฟที่ได้รับรางวัลแกรนด์แสลมเมื่ออายุน้อยมาก ทำเวลาในการคว้ารางวัลเร็วมากเพราะตีพลาดน้อย เป็นนักกอล์ฟผิวสีที่พลิกประวัติศาสตร์กีฬากอล์ฟในสหรัฐฯที่เป็นกีฬาของคนผิวขาวและมีคนดำเป็นแค้ดดี้ ทำให้กีฬานี้ไม่มีการกีดกันนักกีฬาผิวสีอีกต่อไป
แต่ผลข้างเคียงอื่นๆที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ การที่ไม่ได้มีโอกาสไปคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกันมากนัก วันๆอยู่กับบิดาและโปรกอล์ฟในสนามกอล์ฟ ทำให้วูดส์ได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นแชมป์กอล์ฟหนุ่มน้อยที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตร ไม่ค่อยพูดจาปราศรัยกับนักข่าวและคนดู พอมาถึงสนามก็ไม่ยิ้มแย้มพูดจาทักทายอะไรกับใคร อาการแบบนี้เลยถูกตีความว่าค่อนข้างหยิ่ง อันที่จริงแล้วมันน่าจะเป็นเรื่องของการที่เขาเข้าสังคมไม่ค่อยเป็น เพราะอยู่ในสังคมแคบๆในบ้านกับสนามกอล์ฟเท่านั้น ซึ่งธรรมชาติของวัยรุ่นย่อมสนใจในเพศตรงข้าม ออกไปสรวลเสเฮฮากับเพื่อนฝูง เขาก็ไม่มีโอกาสเช่นนั้น ดังนั้นพอเทิร์นโปรเต็มตัว แข่งชนะหลายรอบ หาเงินได้เป็นร้อยล้าน บิดาก็เริ่มปล่อย ตอนนี้เองที่วูดส์ได้ใช้ชีวิตสำเริงสำราญแบบเบรคแตก ควงสาวไม่ซ้ำหน้า จนแม้แต่งงานแล้วก็ยังไม่หยุดเพราะหยุดไม่ได้ วูดส์เคยยอมรับกับสื่อในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าเขาติดเซ็กส์จนต้องเข้ารับการบำบัด ทั้งนี้นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่าการที่เขาใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นแบบอยู่ในกรอบจำกัดมากมีผลทำให้เป็นคนที่ไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่ค่อยมีคนที่จะพูดจาปรึกษาปรับทุกข์กันได้นอกจากบิดามารดาและโค้ช เข้าสังคมไม่เป็น ขาดทักษะในการสื่อสารและสมาคมกับบุคคลอื่นๆและเก็บกด เซ็กส์และพฤติกรรมรุนแรงอื่นๆจึงกลายเป็นเครื่องมือในการระบายความเครียดของวู้ดส์ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรไปตำหนิติเตียนบิดาของวูดส์ที่เลี้ยงลูกแบบตีกรอบ บิดามารดาหลายคนรักและความหวังดีต่อลูกแต่ขาดจิตวิทยาจึงอาจสร้างปัญหาให้ลูกโดยไม่รู้ตัว
ชีวิตต้องมีสมดุล ชีวิตของวูดส์อาจให้ข้อคิดกับหลายๆคนที่หมายมั่นปั้นมือจะให้ลูกประสบความสำเร็จสูงสุดว่าต้องใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงลูกให้ชีวิตมีความสมดุลด้วย โชคดีที่วูดส์ตระหนักว่าตนต้องรับการช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา ประกอบกับลึกๆแล้วเขาเป็นคนที่รักลูก เขาจึงสามารถตั้งสติสร้างวินัยในตนเองได้ใหม่ หันมาดูแลร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บจนฟอร์มการเล่นตก เขาใช้เวลากับลูกๆ และมารดามากขึ้น ด้วยสภาพจิตใจและร่างกายที่ดีขึ้น เขาสามารถกลับมาชนะการแข่งขันในรายการ อาร์โนล์ด พาร์เมอร์ อินวิเทชั่น ในเดือนมีนาคมปี 2013 ซึ่งทำให้กลับขึ้นมาครองตำแหน่งนักกอล์ฟหมายเลขหนึ่งของโลกอีกครั้ง และครองอันดับยาวถึงเดือนพฤษภาคมปี 2014 แต่จากนั้นก็มีปัญหาหลังและเอ็นร้อยหวายจนต้องเข้ารับการผ่าตัดอีก 2 ครั้ง ในปี 2017 เที่ยวนี้พักนานจนอันดับกอล์ฟร่วงไปอยู่ที่อันดับ1199 จนวูดส์คิดว่าชีวิตนักกอล์ฟของเขาคงจบแล้ว แต่โชคชะตาก็พลิกผัน เขาแข็งแรงขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีการแสดงออกกับครอบครัวและผู้คนรอบข้างที่เป็นมิตรขึ้น แสดงถึงสภาพจิตใจที่ดีขึ้นของเขา และความสำเร็จก็กลับมาเป็นของพญาเสืออีกครั้ง เมื่อเขาเข้าแข่งขันในรายการใหญ่ ‘เดอะ มาสเตอร์ส’ ที่สนามออกัสต้า และคว้าแชมป์ เดอะ มาสเตอร์ส ไปครองในที่สุด เป็นการครองแชมป์เมเจอร์ที่ 15 ที่ทำได้
ในวันนี้วูดส์คือชายวัยกลางคนที่ผ่านร้อนหนาว ผ่านขาขึ้นขาลงมาหลายรอบตลอดเวลาชั่วทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าชีวิตคนเราขึ้นสูงได้ก็ลงต่ำได้และก็ขึ้นสูงได้อีกครั้ง หากมีสติ มีวินัย สู้ไม่ถอยและมีความรักความอบอุ่นจากครอบครัวหนุนหลัง