อาเซียนลด-เลิกนำเข้าขยะจากต่างประเทศ

อาเซียนลด-เลิกนำเข้าขยะจากต่างประเทศ

ขณะที่อาเซียนจะให้ความสนใจในประเด็นเรื่องขยะทะเล และผลักดัน “กรอบปฏิบัติงานด้านขยะทะเลฉบับแรก” สู่การประชุมอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่34

ชาติสมาชิกยังให้ความสำคัญกับปัญหาการเคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกข้ามชาติ ล่าสุด สิงคโปร์ มาเลเซียและไทยประกาศนำแนวทางที่ระบุไว้ใน อนุสัญญาบาเซิลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (“Basel Convention” on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) มาปรับใช้ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับ (1) ลดการสร้างของเสียอันตรายและสนับสนุนการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ (2) กำจัดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (3) จัดตั้งระบบควบคุมในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดน มาปรับใช้ในภูมิภาค

การเคลื่อนย้ายขยะข้ามชาติได้รับความสนใจมาก หลังรัฐบาลจีนประกาศยุติการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ (foreign trash) อย่างเป็นทางการในปี 2562 เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ที่รัฐบาลพบว่าเด็กและเยาวชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตเมืองกว่า 80% มีสารตะกั่วตกค้างในกระแสเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณขยะมีพิษจำนวนมาก จีนนำเข้าขยะจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปมาแล้วเกือบ 30 ปี ในปี 2555 จีนได้กลายเป็นประเทศที่นำเข้าขยะมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจรีไซเคิล โดยขยะกว่า 56% จากทั่วโลกถูกส่งมายังประเทศจีนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อจีนยุติการนำเข้าขยะ ประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ตลอดจนประเทศในเอเชียอย่างอินเดียและปากีสถาน จึงกลายเป็นตลาดใหม่ที่จะมารองรับขยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเดือน พ.ค.2562 นายโย บี ยิน (Yeo Bee Yin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย เปิดเผยว่า หลังจากที่จีนยุติการนำเข้าขยะ มาเลเซียกลายเป็นประเทศปลายทางของการทิ้งขยะพลาสติกประมาณ 7 ล้านตันต่อปี เป็นช่องทางให้บริษัทเอกชนหันมาก่อตั้งโรงงานกำจัดขยะซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับใบอนุญาต จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ โดย รมว.พลังงานฯ กล่าวว่า มาเลเซียมีแนวทางที่จะจัดส่งขยะพลาสติกกว่า 3,000 ต้น ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เนื่องจากใช้วัสดุคุณภาพต่ำกลับไปยังสเปน

นโยบายส่งขยะกลับประเทศต้นทาง ถูกบังคับใช้ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน โดย ล่าสุด นายโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ มีคำสั่งว่าจ้างเรือของบริษัทเอกชนให้ขนขยะ 1,500 ตันกลับไปยังแคนาดา และให้ทิ้งตู้คอนเทนเนอร์เหล่านั้นไว้ที่น่านน้ำของแคนาดา หากแคนาดายังไม่ออกมาดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ แคนาดาได้ส่งคอนเทนเนอร์บรรจุขยะจำนวน 103 ตู้มายังฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2556-2557 พร้อมระบุว่าเป็นขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่เมื่อดำเนินการจำกัดขยะไปจำนวน 34 ตู้คอนเทนเนอร์กลับพบว่า ภายในเป็นขยะตามบ้านเรือนและขยะริมถนนซึ่งไม่ตรงตามที่แคนาดาแจ้งไว้ก่อนหน้า ฟิลิปปินส์เรียกร้องให้นำขยะเหล่านี้กลับเป็นเวลาหลายปี แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

ขณะที่ นายซายีด มูฮัดทาร์ (Sayid Muhadhar) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ส่งคอนเทนเนอร์บรรจุขยะจำนวน 5 ตู้กลับไปยังสหรัฐฯ หลังจากสำนักงานศุลกากรพบว่ามีขยะพลาสติกประเภทเส้นใย รองเท้า และผ้าอ้อมเด็กที่รีไซเคิลยาก หรือบางส่วนก็ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ภายในคอนเทนเนอร์ที่จดแจ้งว่าเป็นกระดาษสะอาด ทำให้รัฐบาลประกาศว่าอินโดนีเซียไม่ใช่ บ่อทิ้งขยะ” (dumping ground) ของต่างชาติอีกต่อไป

เวียดนามและไทยก็เป็นอีก 2 ประเทศที่มีการนำเข้าขยะเช่นเดียวกัน กรมศุลกากรเวียดนามเปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศส่งออกขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดย 44% ของคอนเทนเนอร์ทั้งหมดยังคงตกค้างอยู่ที่ท่าเรือเวียดนาม ส่งผลให้นายเหงียน ซวน ฟุก (Nguyễn Xuân Phúc) นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ได้ออกคำสั่งให้เวียดนามยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศภายในปี 2568 ขณะที่รัฐบาลไทยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ และคาดว่าจะเลิกนำเข้าขยะพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐานและมีสารปนเปื้อนภายในปี 2564 หลังตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์บริเวณท่าเรือจังหวัดฉะเชิงเทรา บรรจุขยะมีพิษที่อ้างว่าเป็นขยะพลาสติกลักลอบนำเข้าจากฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่นจำนวน 58 ตัน

ความตื่นตัวด้านขยะในภูมิภาคเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การออกมาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าขยะเพียงเท่านั้น หากแต่ชาติสมาชิกอาเซียนจำเป็นจำต้องมีความจริงจังต่อนโยบายด้านการจัดการขยะภายในประเทศควบคู่กับนโยบายด้านสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกที่เกี่ยวกับ ขยะและคัดแยกให้กับภาคประชาชน เพราะนั่นคือที่มาของปริมาณขยะที่มีจำนวนมากของโลกในปัจจุบัน

 

โดย...

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)