ทบทวนตลาดครึ่งปีแรก และเตรียมตัวสำหรับครึ่งหลัง
ผ่านไปแล้วครึ่งปีสำหรับปี 2019 โดยต้องยอมรับว่าตลาดผันผวนสูงมาก แต่ผลตอบแทนของหุ้นโลกก็ยังสามารถอยู่ในแนวบวกได้
นำโดยหุ้นจีน โดยตั้งแต่ต้นปี ดัชนี CSI300 ปรับตัวขึ้น 28.8% ขณะที่ดัชนี S&P500 และ EURO STOXX 600 ก็ต่างปรับตัวขึ้นที่ 17.2% และ 14.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปแน่นอนว่าเรามี 2 เหตุการณ์หลักที่โลกจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ 1) ทิศทางการดำเนินนโยบายของ FED หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ และ 2) การเจรจาทางการค้าจีน-สหรัฐฯ
สำหรับนโยบายของ FED เป็นที่แน่นอนแล้วว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่ขึ้นมาแล้วกว่า 9 ครั้งตั้งแต่ปลายปี 2015 ได้จบลงแล้ว ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถขยายตัวได้ดีในปีที่แล้ว สวนทางกับประเทศอื่นๆอันเป็นผลมาจากการลดภาษีนิติบุคคลของปธน.ทรัมป์ที่ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯสูงขึ้น หนุนราคาหุ้นให้ปรับตัวขึ้นตาม แต่ปีนี้สหรัฐฯเองก็เริ่มกระทบ รวมถึงแรงหนุนเรื่องภาษีนิติบุคคลในปีนี้จะหายไป แม้ว่าจะยังดูดีกว่าในหลายๆประเทศก็ตาม FED เองก็ไม่อยากเสี่ยง และส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีจากปีที่แล้วไปโดยสิ้นเชิง
ข้ามมาที่ประเด็นการค้าที่ล่าสุด ปธน.ทรัมป์ และปธน.สี จิ้งผิงตกลงเจรจาการค้ารอบใหม่ หลังจากประเด็นการค้ากลับมาร้อนระอุในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ได้ยุติแผนการที่จะขึ้นภาษีบนสินค้ามูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่เหลือจากจีน และยินยอมให้บริษัทสหรัฐฯสามารถขายสินค้าให้กับบริษัทหัวเว่ยได้ต่อไป ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น และคลายความกังวลไปได้ระดับหนึ่ง แต่เรามองว่าความผันผวนจะยังคงสูง และจะหลีกเลี่ยงไม่ได้จนกว่าจะหาข้อตกลงกันได้จริง
อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องพูดถึง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง นักลงทุนหวาดกลัวได้ง่ายว่าโลกจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเร็ววัน ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ตลาดทุนได้รับผลกระทบตาม รัฐบาลทั่วโลกจึงจำเป็นต้องช่วยบรรเทาการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศตนเองโดยหลีกเลี่ยงการเกิด Hard-landing แต่ค่อยๆประคับประคองให้เศรษฐกิจชะลอลงแบบค่อยๆ หรือ Soft-landing นั่นเอง ทั้งนี้ หากพิจารณาลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน คำนิยามของ Soft-landing ตามสถิติข้อมูลย้อนหลังจึงแตกต่างกันตามไปด้วย ดังนี้
จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีนโยบายการเงินที่ไม่ค่อยยืดหยุ่น และไม่ทันท้วงทีอย่างญี่ปุ่น และเยอรมนีมักจะเผชิญกับปัญหาสภาวะเศรษฐกิจถดถอยบ่อยกว่าสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักรที่มีความยืดหยุ่นทางด้านการบริหารนโยบายการเงินสูงกว่า ขณะที่กรณีของออสเตรเลียที่สามารถหลีกเลี่ยง GDP ติดลบได้ดีสุด เพราะ สามารถตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในปี 2000 ที่เรารู้จักกันดีในชื่อวิกฤต Dot-com อัตราการจ้างงานของออสเตรเลียในช่วงดังกล่าวสูงขึ้นจาก 6% ในเดือนกรกฎาคม 2000 ไปอยู่ที่ 7.2% ในเดือนตุลาคม 2001 ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียก็อ่อนค่าลงแรงกว่า 6% เมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค้าสำคัญ อันเป็นผลมาจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลีย หรือ RBA จาก 6.25% ณ สิ้นปี 2000 สู่ระดับ 4.25% ณ สิ้นปี 2001 แตกต่างกับฝั่งสหรัฐฯที่อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นจาก 3.8% ในเดือนเมษายน 2000 สู่ระดับ 6.3% ในเดือนมิถุนายน 2003 ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่าสหรัฐฯเผชิญกับปัญหายาวนานกว่า
โดยสรุป เรามองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งถัดไปสามารถหลีกเลี่ยงได้จากการช่วยเหลือผ่อนหนักเป็นเบาของธนาคารกลางทั่วโลกเห็นได้จากแนวโน้มนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการลงทุน และหาผลตอบแทนในระดับสูงๆเหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะทำได้ยากขึ้น เพราะ ตลาดสามารถเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว เราจึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนแบบตั้งรับ (Defensive) และกระจายความเสี่ยง (Diversification)