จากดิจิทัลพาร์ค ถึงรัฐสภา
คำว่า Park ก็คือ “สวนสาธารณะ” ที่เพิ่มความเขียว อากาศบริสุทธิ์ เป็นที่พักผ่อน ออกกำลังกาย และคลายเคลียดให้กับผู้คน
ต่อมา Park ถูกนำไปใช้ในอีกความหมายหนึ่ง เรียกว่า Industrial Park หรือ “นิคมอุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ รองรับโรงงานจำนวนมาก มีระบบการจัดการ และการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี
วันนี้ โลกเปลี่ยนไปอีก เมื่อ Park ชนิดใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า Digital Park แปลเป็นไทยว่า ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลบ้าง เมืองแห่งนวัตกรรมบ้าง ฯลฯ แต่ผมขอเรียกทับศัพท์ว่า “ดิจิทัลพาร์ค” ก็แล้วกัน สั้นดี
ผมพาผู้บริหารในหลักสูตรดิจิทัล ไปดูงานที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และซิลิคอน ก็บ่อยครั้ง สัปดาห์ที่แล้ว มีโอกาสไปดูงานของคนไทย 2 แห่ง คือศูนย์เทคโนโลยีของธนาคาร และ ดิจิทัลพาร์คเต็มรูปแบบ
ที่ KBTG ศูนย์เทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย มีพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่มากมาย บรรยากาศในอาคาร ออกแบบให้เหมาะกับคนทำงานซึ่งอยู่ในวัย 20 กว่าๆ - 30 ต้นๆ รูปลักษณ์การออกแบบ คล้ายกับหลายแห่งที่ผมได้เห็นในต่างประเทศ
มีห้องให้นอนพัก มีห้องอาบน้ำ ส่วนฝาผนัง เบาะเก้าอี้ ห้องประชุม ฯลฯ ก็มีรูปแบบและสีสันที่แตกต่างจากที่ทำงานทั่วไป โดยเชื่อว่าจะกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์
งานเด่นที่ผู้บริหาร KBTG เล่าให้คณะของเราฟัง ก็คือการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้อย่างจริงจัง ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนของ 22 สถาบันการเงิน บริษัทร่วมทุนนี้ มีชื่อว่า BCI เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นี้เอง
ธุรกิจแรกเริ่ม คือใช้ Blockchain เพื่อการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละปีมีการออกหนังสือค้ำประกัน มากกว่า 500,000 ฉบับ BCI คาดว่าภายใน 3 ปีจะให้บริการได้ 50% ของจำนวนนี้ ซึ่งนอกจากลดต้นทุนแล้ว ยังลดการตัดต้นไม้ ได้นับพันต้น
ผู้บริหารบอกว่า ในอนาคตจะนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ประโยชน์ ในการให้บริการด้านอื่นๆอีกด้วย
วันรุ่งขึ้นผมได้ไปชม ดิจิทัลพาร์คของไทย ที่ครบเครื่อง และใหม่เอี่ยมอ่อง ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ แต่มีผู้ขอเข้าชมตลอดเวลา นั่นคือ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ปุณณวิถี
ที่นี่ พื้นที่ถูกใช้เกือบเต็มแล้ว งานก่อสร้างเฟส 2 บนที่ดินข้างเคียง กำลังเริ่มต้น เมื่อรวมเฟส 2 แล้ว จะเป็นดิจิทัลพาร์คขนาด 92,000 ตารางเมตร ใหญ่มากๆในระดับภูมิภาคเลยทีเดียว
คณะของเรา ได้เห็นบรรยากาศของ Startup Campus คล้ายกับที่เห็นมาจากประเทศอื่น แต่ผู้บริหารได้ต่อยอด แต่งเติมและเสริมความคิด ให้เป็นไปตามความฝัน ที่อยากให้ดิจิทัลพาร์คแห่งนี้ เป็น โชว์เคส ของคนไทยอย่างแท้จริง
เมื่อสวนสาธารณะมีต้นไม้ นิคมอุตสาหกรรมมีโรงงาน ดิจิทัลพาร์ค ก็ต้องมีบริษัทเทคโนโลยี เราจึงได้เห็นทั้งกูเกิ้ล หัวเหว่ย ฯลฯ และหน่วยงานดิจิทัลของรัฐ เช่น ETDA และ DEPA รวมทั้ง มหาวิทยาลัยอย่าง KMITL ฯลฯ อยู่กันครบถ้วน มีกิจกรรมและการนำเสนอเทรนด์ใหม่ ตลอดเวลา
เรียกว่าเป็นบรรยากาศ ที่ครบวงจรดิจิทัลเทคโนโลยีจริงๆ
คนที่เดินเข้ามาตึกนี้ ส่วนหนึ่งก็คือ คนรุ่นใหม่ ที่มีไอเดียกระฉูด อยากทำ Startup แทนที่จะหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง ก็มานั่งที่นี่ เพราะมีความสะดวกทุกประการ เพียบพร้อมด้วยบรรยากาศที่เอื้อ และบ่มเพาะให้ความฝันของเขาหรือเธอ มีโอกาสเป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น
คนประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะมีความฝันที่เหมือนกัน คล้ายกัน หรือแตกต่างกัน จะได้มาพบปะ พูดคุย คิดคำนึง และแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ที่นี่มีการออกแบบให้เลือกที่นั่งตรงไหนก็ได้ มุมไหนก็ได้ คุยกับใครก็ได้ จะนั่งมองท้องฟ้าสีคราม หรือ แนวตึกสูงของกรุงเทพฯ จะมองตะวันตกดิน หรือ ฝาผนังสีสดใส ที่อาจจะนำไปสู่จินตนาการใหม่ๆ ที่ทำให้ไอเดียกระฉูดสู่ความเป็นจริง ก็ได้ทั้งนั้น
ทำให้ผมอดนึกถึงเรื่องราวของ ไอแซค นิวตัน ไม่ได้ เพราะเมื่อ 330 ปีที่แล้ว ไม่มีบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดจินตนาการอย่างนี้ แต่ ไอแซค นิวตัน มองเห็นลูกแอปเปิ้ลหล่นลงมาจากต้น เขาก็ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงแล้ว
วันนี้ดิจิทัลพาร์ค มีระบบนิเวศเพื่อเร่งเร้านวัตกรรม อย่างมากมายขนาดนี้ ความเร็วและความลึกของการค้นพบ จึงน่าจะโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น และถ้าหากศูนย์เทคโนโลยี และดิจิทัลพาร์ค ต่างมีส่วนช่วยให้คนหนุ่มสาวของเรา ก้าวไกลทางเทคโนโลยี และทำ startup ได้สำเร็จมากขึ้น ก็ถือว่ามีส่วนปรับเปลี่ยนประเทศไปในทางที่สร้างสรรค์ มากทีเดียว
ความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่ยาก ผมเคยอ่านว่ากูเกิ้ล ส่งเสริมให้พนักงานออกไปพบปะกับพนักงานฝ่ายงานอื่น ในชั่วโมงทานอาหารกลางวัน การได้นั่งทานอาหารกลางวัน กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เขาเชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการไหลเวียนของความคิด
ทรูดิจิทัลพาร์ค บอกว่าที่นี่ก็ได้ออกแบบ เพื่อให้ผู้คนไหลเวียนออกมาพบปะกัน ในพื้นที่ที่เป็นส่วนกลาง และที่ผมสังเกตก็คือ บางส่วนของพื้นที่ ดูเหมือนว่าจะยังไม่เสร็จดี เช่นฝาผนังบางส่วน คล้ายฉาบปูนไว้ดิบๆ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็น ความตั้งใจ
ผมได้คำตอบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ แนวคิดก็คือ startup เป็นเรื่องของความฝันที่ยังไม่สำเร็จ การที่สภาพแวดล้อมมีอะไรบางอย่าง "ที่ยังไม่เสร็จ” นั้น อาจจะเอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ว่าแนวคิดอย่างนี้จะเป็นจริงเพียงใด ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เห็นทีจะต้องไปค้นคว้าหางานวิจัยมาดูก่อนนะครับ
เลยทำให้ผมนึกรัฐสภาแห่งใหม่ “ที่ยังไม่เสร็จ” เหมือนกัน เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้ทรงเกียรติพากันบ่นอุบเลย ว่าอะไรๆก็ยังไม่เรียบร้อย ไม่สะดวก จนท่านประธานรัฐสภา ต้องออกมาขอให้อดทนกันหน่อย
ใครสักคน น่าจะไปวิจัยนะครับ ลองติดตามดูว่า การประชุมสภาฯ ในสภาพที่รัฐสภา “ยังไม่เสร็จ” นั้น จะเอื้อให้ท่านผู้ทรงเกียรติมี “ความคิดสร้างสรรค์” มากยิ่งขึ้น ตามแนวคิดนี้หรือไม่
ถ้าหากว่าเป็นจริง ก็ถือว่าคุ้มค่าภาษีของประชาชน แล้วครับ