ทางเลือกเชิงนโยบาย อุตสาหกรรมบริการ “สาธารณสุข”
ประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญพร้อมกัน 2 เรื่องคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ท่ามกลางการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ด้านนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อุตสาหกรรมบริการสำคัญที่จะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับความท้าทายทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวข้างต้น ก็คืออุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั่นเอง ทั้งนี้เพราะว่า อุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขถือเป็นหนึ่งบริการเป้าหมายสำคัญ ที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของภูมิภาคเอเชียมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 แล้ว ซึ่งต่อมา ภาครัฐก็ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมด้านการแพทย์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ด้วย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังมีบทบาทสำคัญในการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชากรไทยที่นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะสังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้นนั่นเอง
ที่ผ่านมา จำนวนสถานพยาบาลของรัฐก็ยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยได้หมดในหลายพื้นที่ แม้ว่าประเทศไทยจะได้ประกาศใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งทำให้ประชากรไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ในปัจจุบันประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพหลักรวมทั้งหมด 3 กองทุนด้วยกัน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ประเทศไทยก็ยังเผชิญกับปัญหาในเรื่องความไม่คุ้มค่าของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเมื่อเทียบกับคุณภาพบริการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า เรายังขาดเรื่องความร่วมมือเชิงแข่งขันทางด้านบริการระหว่างภาครัฐและเอกชน และระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ยั่งยืนทางการคลังของกองทุนหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนหลัก ปัญหาระบบการเบิกจ่ายยาและค่ารักษาพยาบาลที่ขาดประสิทธิภาพ และปัญหาเรื่องภาระงานจำนวนมากในโรงพยาบาลของรัฐที่ทำให้หมอและพยาบาลในภาครัฐต้องทำงานกันอย่างหนักจนไม่มีเวลาในการศึกษาและพัฒนาความสามารถให้ทันกับความรู้ใหม่ ๆ เท่าที่ควร เป็นต้น ในขณะที่ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนนั้น ที่ผ่านมาก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มักมีที่ตั้งกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการขยายตัวของลูกค้ากลุ่มชนชั้นกลางในเขตเมือง และการขยายตัวของกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศที่เข้ามาใช้บริการในรูปแบบของการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) นั่นเอง
คำถามแรกๆ ที่เราจะต้องถามตัวเองก่อน (ก่อนที่จะพูดถึงนโยบายที่จะเป็นไปได้) ก็คือว่า เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีทางเลือกเชิงนโยบายกี่รูปแบบที่เป็นไปได้ในการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของภูมิภาคเอเชีย คำตอบเบื้องต้นที่พอเป็นไปได้ส่วนใหญ่นั้น ก็คงจะได้จากการศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกที่เคยมีมาจากกรณีศึกษาของต่างประเทศนั่นเอง
ตัวอย่างหนึ่งในอดีตเช่นกรณีของประเทศสหรัฐ มี 2 รูปแบบด้วยกันคือ รูปแบบแรกจะเป็นกรณีของศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์ของเมืองฟิลลาเดลเฟีย (Philadelphia Medical District) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านไบโอเทคโนโลยีและที่ตั้งของบริษัทผลิตยาขนาดเล็กและกลางจำนวนมากในปัจจุบัน การที่ฟิลลาเดลเฟียสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองจากพื้นที่ที่เคยเป็นอุตสาหกรรมหนักแบบดั้งเดิมที่แข่งขันไม่ได้แล้วมาเป็นผู้นำทางด้านไบโอเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากความร่วมมือกันอย่างจริงจังของหลายๆ ฝ่ายในพื้นที่ตั้งแต่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงที่มีอยู่หลายแห่ง ผู้กำหนดนโยบายในท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชนและสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ สถาบันการเงินในท้องถิ่น ซึ่งได้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยงานลักษณะแบบโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่มีบทบาทในเชิงรุกต่าง ๆ เช่น The Franklin Institute, the Wistar Institute, the Institute for Cancer Research, Jefferson University Medical School และ the University City Science Center เป็นต้น ซึ่งเครือข่ายทุนทางสังคมเหล่านี้ได้ช่วยทำให้เกิดบริษัทยาขนาดเล็ก (spins-off) ที่หันมาใช้ความรู้ด้านไบโอเทคโนโลยีที่ได้การวิจัยที่หลากหลายมากขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทหลายแห่งก็ได้พัฒนากลายเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด
อีกตัวอย่างที่แตกต่างกันก็คือ กรณีของเมืองมินนีแอโพลิส สหรัฐ ที่เป็นที่รู้จักในนาม Medtronic ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากชื่อเสียงระดับโลกของ University of Minnesota ในเรื่องการผ่าตัดหัวใจ และต่อมานักธุรกิจในพื้นที่ก็ได้หันเหการลงทุนจากด้านคอมพิวเตอร์เมนเฟรมที่เคยเป็นจุดแข็งของท้องถิ่นแต่เริ่มแข่งขันไม่ได้แล้วนั้น ไปสู่บริการทางการแพทย์กันมากขึ้น บริษัททางด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของที่เมืองมินนีแอโพลิสนี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงทางธุรกิจกับมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ของท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากกรณีของฟิลลาเดลเฟียที่บริษัทยาส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดเล็กและกลางดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นเอง
โดยสรุปแล้ว รูปแบบที่แตกต่างของศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) แต่ละแห่งนั้นจะถูกกำหนดจากทั้งจุดแข็งของเอกชนและภาครัฐในท้องถิ่น และนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องของพื้นที่เป็นสำคัญ คำถามจึงมีอยู่ว่า ประเทศไทยได้มีการวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ในรายละเอียดให้ตกผลึกกันอย่างจริงจังในประเด็นเรื่องเหล่านี้กันแล้วหรือยัง