เวียดนาม:อุปสรรค และโอกาสของ SME ไทย (จบ)

เวียดนาม:อุปสรรค และโอกาสของ SME ไทย (จบ)

จากรายงานของบ.ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ BMI ตลาดด้านยาและเวชภัณฑ์ในเวียดนามเติบโตเฉลี่ยกว่า 10% ต่อปี โดยในปี 2560 มีมูลค่าถึง 4.6 พันล้านดอลลาร์

ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฤษฎีกาหมายเลข 115/2018/ND-CP แก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายภายใต้กฤษฎีกาหมายเลข 54/2017/ND-CP ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเภสัชกรรมในเวียดนาม เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเวียดนามและภาคเอกชนต่างชาติแข่งขันกับบริษัทผลิตเวชภัณฑ์ยาที่เป็นรัฐวิสาหกิจของเวียดนามได้มากขึ้น บริษัทต่างชาติรวมถึงไทยสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ยา โดยเฉพาะยาเพื่อรักษาโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)ซึ่งมีความต้องการสูง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยในเวียดนามกว่า 70 %

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจในการเข้าไปลงทุน เวียดนามมีแรงงานจำนวนมาก มีอัตราค่าจ้างที่แข่งขันได้ ได้รับสิทธิ์พิเศษทางภาษี(จีเอสพี)จากหลายประเทศ ในปี 2559 เวียดนามส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นลำดับที่ 5 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 2.83 หมื่นล้านดอลลาร์ปี 2560 เพิ่มเป็น 3.13 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% คิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าในปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 2,931 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 29% จากปี 2557 เป็นอัตราการเติบโตที่สูงมาก เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามส่งเสริมให้นักลงทุนจาก

ต่างชาติเข้าไปลงทุนเพื่อต้องการเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก

ธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ คือธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เวียดนามมีทรัพยากรทางการเกษตรจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังขาดเงินลงทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย นักลงทุนไทยที่มีวิถีชีวิตการทำธุรกิจเกษตรที่คล้ายคลึงกัน มีโอกาสมากที่จะเข้าไปบุกเบิกธุรกิจได้ สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปที่น่าจะมีโอกาสลงทุนมากที่สุดของไทยคืออุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป เนื่องจากโรงงานแปรรูปผลไม้ในเวียดนามยังมีน้อย นักลงทุนไทยสามารถนำเข้าผลไม้สดคุณภาพดีจากไทย 

อาทิ ทุเรียน มังคุด มะม่วงและลำใย เข้าไปแปรรูปในเวียดนามได้ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเสรีการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เคลื่อนย้ายวัตถุดิบเข้าเวียดนามโดยปราศจากภาษีศุลกากรการขนส่งจากไทยมีความสะดวกใช้เส้นทาง R12 ระยะทาง 1,383 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าเส้นทางอื่น ล่าสุดมีนักลงทุนไทยวางแผนที่จะเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรเวียดนาม เพื่อก่อสร้างห้องแช่เย็นเยือกแข็งผลไม้ในนครโฮจิมินห์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลไม้สด ก่อนนำไปแปรรูปเป็นผลไม้แช่แข็งออกจำหน่ายในตลาดโลก

การเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรติดต่อผ่านตัวแทนธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ หรือภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน ผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยนมุมมองเวียดนามจากคู่แข่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อบุกตลาดเวียดนามและตลาดโลก ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามได้เร่งปรับปรุงนโยบายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ให้สามารถถือหุ้นบริษัทในเวียดนามได้สูงสุดถึง 100% จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่ 49% และอำนวยความสะดวกนักลงทุนจากต่างชาติ แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคให้สอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบไทยในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยตกต่ำ มีความไม่แน่นอนสูง

ท่านผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในเวียดนามสามารถติดต่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (www.ditp.go.th) ที่มีเครือข่ายสำนักงานส่งเสริมการค้าทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ ที่สามารถช่วยเหลือในการทำธุรกิจที่เวียดนามได้ครับ...