การใช้ Algo-Trading ในช่วงตลาดแกว่งตัว
ฟังก์ชั่นซื้อขายหุ้นอัตโนมัติบนโปรแกรมซื้อขายหุ้นถือเป็น Algo-Trading พื้นฐานอย่างหนึ่งที่มีบริษัทหลักทรัพย์หลายๆที่ได้นำเสนอให้นักลงทุน
ที่มีบัญชีซื้อขายอยู่กับริษัทได้ใช้กัน โดยหลักการแล้วฟังก์ชั่นพวกนี้จะเป็นการอนุญาตให้ลูกค้าตั้งเงื่อนไขพื้นฐานในการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นไว้ล่วงหน้า เช่น ถ้าหุ้น A ขึ้นไปถึงที่ราคา X บาท โปรแกรมจะทำการซื้อหุ้นให้ (Follow-Buy) หรือ ถ้าหุ้น B ที่มีอยู่ราคาตกลงไปที่ราคา Y บาท โปรแกรมจะทำการขายหุ้นให้ (Cut-Loss) เป็นต้น ฟังก์ชั่นอัตโนมัติแบบนี้เสมือนคล้ายๆการที่เราโทรแจ้งเจ้าหน้าที่การตลาดให้ช่วยคอยดูราคาหุ้นตัวนั้นๆให้ แล้วค่อยส่งคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นขยับไปที่เป้าราคาที่เราดูไว้ นวัตกรรมตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่เคยมีประสบการณ์ตกรถซื้อหุ้นที่ไม่ทัน เพราะไม่ได้ดูหน้าจอเทรด หรือขายหุ้นตัดขาดทุนไม่ทัน เพราะติดงานอื่นอยู่
ถึงแม้ฟังก์ชั่นซื้อขายหุ้นอัตโนมัตินี้เสมือนมีเจ้าหน้าที่การตลาดช่วยดูราคาหุ้นให้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีหลายๆกรณีที่เจ้าหน้าที่การตลาดนั้นสามารถตัดสินใจและทำหน้าที่ได้เหมาะสมกว่า โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันนี้ที่ตลาดหุ้นมีการแกว่งตัวรุนแรงเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้นักลงทุนเองต้องระมัดระวังในการใช้ฟังก์ชั่นตรงนี้
กรณีที่หุ้นตัวนั้นสภาพคล่องหายไป สังเกตว่าผมไม่ได้ใช้คำว่าหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อย เพราะโดยส่วนมากแล้วฟังก์ชั่นอัตโนมัติของแต่ละโบรกจะมีการตั้งเงื่อนไขเผื่อไว้แล้วไม่ให้ใช้ฟังก์ชั่นนี้กับหุ้นสภาพคล่องน้อย เช่น สามารถใช้ได้เฉพาะหุ้นในดัชนี SET100 เป็นต้น กรณีที่ต้องระวังคือการใช้ฟังก์ชั่นนี้กับหุ้นที่ปกติแล้วมีสภาพคล่องสูง Bid-Offer มีปริมาณมากๆ และอยู่ๆระหว่างวันปริมาณ Bid-Offer ก็หายไป ซึ่งสถานการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆในช่วงเวลาที่มี panic-sell เกิดขึ้น ซึ่งไม่เว้นแต่หุ้นขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้นได้ สภาพคล่องที่หายไปแบบกระทันหันทำให้คำสั่งซื้อขายจากฟังก์ชั่นอัตโนมัติที่มีจำนวนหุ้นมากๆอาจจะไปกระทบกับราคาหุ้นได้และสร้างความเสียหายแก่นักลงทุน เช่นกรณี Flash Crash ที่เป็นข่าวหลายๆครั้งในต่างประเทศ หรือหุ้นบางตัวที่ราคาปรับลงไปที่ Floor แบบไม่มีวอลุ่ม
โดยปกติแล้วฟังก์ชั่นซื้อขายอัตโนมัติที่ใช้กันจะมีการใช้ราคาหุ้นที่ดูเป็นเงื่อนไข Trigger การส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นที่ตั้งไว้ เช่น ตั้งเงื่อนไขไว้ถ้าหุ้นลงไปที่ราคา 10 บาทจะ Trigger ให้โปรแกรมทำการขายหุ้น แต่นักลงทุนต้องอย่างลืมว่าราคา 10 บาทนี้อาจไม่ใช่ราคาที่นักลงทุนสามารถขายหุ้นได้จริงๆ ขึ้นอยู่กับ Bid ของหุ้นที่ราคา 10 บาทนั้นมากน้อยแค่ไหน ก่อนใช้ฟังก์ชั่นนี้นักลงทุนต้องศึกษารายละเอียด เพราะจะมีความแตกต่างกันของแต่ละโปรแกรม เช่นบางโปรแกรมอาจจะตั้งคำสั่งขายทิ้งไว้ที่ราคา Trigger ที่ 10 บาทไปเลย ซึ่งถ้าเป็นหุ้นที่แกว่งตัวแรงๆ นักลงทุนอาจจะไม่สามารถขายหุ้นนั้นได้ถ้าราคาหุ้นปรับตัวลงต่อไปเรื่อยๆ หรือบางโปรแกรมอาจจะแยกราคาขายหุ้นกับราคา Trigger ออกจากกัน เช่นราคา Trigger ที่ 10 บาท แต่ราคาที่ขายหุ้นอาจจะยอมให้ขายต่ำกว่า 10 บาทได้ รายละเอียดตรงนี้สำคัญมากโดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการส่งคำสั่งอัตโนมัติกับหุ้นที่อยู่ในกระแสการเก็งกำไรของมวลชน และมีการแกว่งตัวที่รุนแรงกว่าปกติ
หรืออีกกรณีหนึ่งที่มีคนถามกันเยอะในเรื่องฟังก์ชั่นอัตโนมัตินี้เพื่อเทรด DW ซึ่งโดยปกติแล้ว DW แต่ละตัวจะมีผู้ออกทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการวาง Bid Offer ของ DW ตัวนั้นๆ ทำให้สภาพคล่องของ DW แต่ละตัวกำหนดโดยเสถียรภาพของระบบคอมพิวเตอร์และปัจจัยเฉพาะอย่างของผู้ออก DW แต่ละราย ซึ่งในสภาวะตลาดที่ผันผวนหรือแกว่งตัวแรงๆ สภาพคล่องตรงนี้อาจจะเปลี่ยนไปมาขึ้นกับนโยบายของแต่ละผู้ออก ทำให้การใช้ฟังก์ชั่นนี้ในการเทรด DW นั้นต้องใช้อย่างระมัดระวังและนักลงทุนควรใช้เท่าที่จำเป็นหรือเฉพาะกับ DW ของผู้ออกที่นักลงทุนคุ้นเคยกับนโยบายบริหารสภาพคล่องอยู่ก่อนแล้ว
ในอนาคต Algo-Trading แบบพื้นฐานนี้จะมีการพัฒนาลูกเล่นที่หลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและนำเสนอให้แก่นักลงทุนในวงกว้าง นักลงทุนควรทำความเข้าใจในเชิงลึกถึงความเหมาะสมในการใช้งานหรือข้อจำกัดต่างๆ ทำให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจเลือกใช้ฟังก์ชั่นพวกนี้ได้ดีขึ้นและปลอดภัย ตามสภาพวะตลาดที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ