SMEsไทยเหยื่อสงครามการค้า ที่รอรับการช่วยเหลือ
ตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศนโยบาย America First
เพื่อสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนอเมริกันที่เป็นฐานเสียง โดยเฉพาะนโยบายการประกาศสงครามการค้ากับประเทศจีนที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2561 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงสะเทือนไปทั้งโลก
ล่าสุดได้ประกาศเรียกเก็บภาษีจากจีนเพิ่มขึ้น 10% จากภาษีนำเข้าจากจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 จากก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มแรกมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ถูกเก็บภาษีนำเข้า 25% ไปก่อนแล้ว ส่งผลให้สินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด 5.5 แสนล้านดอลลาร์ ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น
นอกจากนี้โดนัลด์ ทรัมป์ ยังพยายามกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1% เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้สกุลงินอ่อนค่า สร้างความได้เปรียบในการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดสงครามค่าเงินตามมา
ขณะที่จีนได้ดำเนินการตอบโต้ปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง จากระดับ 6.88 หยวน เมื่อ 5 ก.ค. 2562 เป็น 7.03 หยวนต่อดอลลาร์ เมื่อ 5 ส.ค. 2562 อ่อนค่าลง 2.13% การอ่อนค่าลงของเงินหยวนส่งผลให้ค่าเงินทั้งภูมิภาคอ่อนค่าลงไปด้วย
นอกจากการทำให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่า จีนได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามาก่อนหน้านี้แล้ว การตอบโต้ของสองมหาอำนาจด้วยมาตรการทางภาษีและอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย
จากรายงานผลการเติบโตของเศรษฐกิจไทย สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2562 ชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 2.3% ส่งผลให้จีดีพีของไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวเพียง 2.6% เนื่องจากจีดีพีของไทยพึ่งพาการส่งออกไม่น้อยกว่า 70% โดยการส่งออกสินค้าหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงหดตัว 5.8% หดตัวต่อเนื่องจาก 5.9% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ผ่าน 6 ช่องทางหลัก ได้แก่ ด้านห่วงโซ่อุปทานกับจีน ด้านเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ด้านประเทศคู่ค้าไทยที่พึ่งพาการส่งออกจีนสูง ด้านการทุ่มตลาด ด้านการท่องเที่ยวไทย และด้านอสังหาริมทรัพย์ สินค้า 5 หมวดหลักที่จะได้รับผลกระทบในทางลบ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์
นอกจากสงครามการค้า เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ตรงกันข้ามกับเงินสกุลอื่น เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทถูกขับเคลื่อนด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยฐานะดุลการค้าของไทยยังมีแนวโน้มที่เกินดุล และการที่ประเทศไทยถูกมองเป็นแหล่งลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยนับตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งตัวไปแล้วกว่า 5% (YTD)เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์
จากสงครามการค้าและการแข็งค่าของเงินบาท ได้ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อผู้ประกอบการไทย 3 ด้าน คือด้านการท่องเที่ยวเนื่องจากมีสัดส่วนสูงถึง 15% ของจีดีพีเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนมีผลประมาณ 3-4% ของจีดีพี จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่ลดลง ทำให้โรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กมีอัตราการเข้าพักที่ต่ำลงมาก ส่วนในด้านอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหยวนทำให้ชาวจีนชลอการซื้อคอนโดมิเนี่ยมในประเทศไทย บางรายยอมทิ้งเงินดาวน์ไม่ยอมทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์
ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงที่ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังคือมาตรการทุ่มตลาดจากสินค้าที่จีนไม่สามารถส่งไปสหรัฐได้ สินค้าที่ได้รับผลกระทบคือเหล็ก ทั้งเหล็กท่อนและเส้น ท่อเหล็ก แผ่นรีดแบน สปริงและลวดเหล็ก ที่มีมูลค่าการนำเข้าในปริมาณที่สูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 และสินค้าในหมวดสินค้าผู้บริโภค เช่นเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในครัวเรือนที่มีสินค้าคงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
ท่านผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และหมวดสินค้าที่อาจถูกมาตรการทุ่มตลาดจะต้องมีแผนในการดำเนินธุรกิจที่รอบคอบระมัดระวัง สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะต้องมีมาตรการที่ผ่อนปรน การหวังพึ่งพารัฐบาลที่มีสภาพทุลักทุเลปัจจุบันคงจะช่วยไม่ได้ ต้องช่วยตัวเองครับ
ผมเชื่อว่าสงครามการค้ายังคงอีกยาวไกล จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2563