รู้จัก ว่าที่คู่ชิงทรัมป์: ‘อลิซาเบธ วอร์เรน’
นาทีนี้ เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถูกสอบสวนเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอน(Impeachment)ในกรณีความเกี่ยวข้องกับผู้นำยูเครน
ว่าด้วยความเกี่ยวข้องกับการสอบสวนลูกชายของโจ ไบเดนกับบริษัทก๊าซของยูเครน ส่วนเบอร์นี แซนเดอร์ ผู้สมัครเพื่อเป็นตัวแทนในการชิงชัยผู้นำสหรัฐของพรรคเดโมแครตอีกราย ก็เข้ารับการรักษาโรคหัวใจ
หลายฝ่ายจึงเริ่มหันมามอง อลิซาเบธ วอร์เรน ซึ่งเธอเริ่มมีคะแนนนำนายไบเดนในบางโพล ว่ามีสิทธิที่จะเป็นคู่ชิงกับนายทรัมป์ ในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีหน้า บทความนี้ จะขอเล่าถึงนโยบายหลักของเธอ ดังนี้
หนึ่ง อลิซาเบธ วอร์เรน ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลุกปั้นหน่วยงานปกป้องผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือ Consumer Financial Protection Bureau (CFPB) ที่เธอได้เสนอให้จัดตั้งขึ้นมาในช่วงที่เธอเป็นวุฒิสมาชิก โดยหน่วยงานนี้ ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคในการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในกรณีที่มีปัญหาหรือข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างผู้บริโภคกับสถาบันการเงิน ซึ่งนางวอร์เรนขึ้นชื่อว่าอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่มานานแล้ว
โดยเธอค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับที่ ทิม ไกธ์เนอร์ อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ สมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับแบงก์ใหญ่ หลังที่ลงจากตำแหน่ง รวมถึง ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตประธานที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ที่ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับแบงก์ขนาดใหญ่หลังที่ลงจากตำแหน่งเช่นกัน เนื่องจากมองว่าเป็นการนำข้อมูลของภาครัฐ สมัยที่ทำหน้าที่ให้กับประเทศไปใช้ในการทำงานให้กับแบงก์ใหญ่ในภาคเอกชน
นอกจากนี้ เธอน่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายดอดด์แฟรงค์ ในหมวดการบริหารจัดการสถาบันการเงินหลังล้มละลายสำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ได้แก่ การตั้งหน่วยงาน Orderly Liquidation Authority (OLA) ภายใต้สถาบันประกันเงินฝากหรือ FDIC เพื่อที่ว่าความเสียหายจากการล้มละลายของแบงก์จะตกไปที่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ที่เนื้อหาดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในการโหวตให้เป็นกฎหมายในบางส่วนสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะเธอกล่าวชื่นชมกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารการล้มละลายของสถาบันการเงินแบบ single-point-of-entry (SPOE) ที่เรียกว่า Living wills
ท้ายสุด ในส่วนการปฏิวัติโครงสร้างของสถาบันการเงิน องค์ประกอบสำคัญได้แก่ Volcker Rule ในส่วน 619 โดย Volcker Rule ได้ห้ามสถาบันการเงินในการเทรดหลักทรัพย์ของตนเอง (Proprietary Trading) หรือมีความสัมพันธ์กับกองทุน Hedge Fund และ Private Equity Fund ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ากฎหมาย Volcker Rule ฉบับที่ร่างเป็นกฎหมายเสร็จสิ้นเมื่อสิ้นปีก่อน มีเกณฑ์หลายประการที่ถูกผ่อนคลายลง ซึ่งผมมองว่านางวอร์เรนน่าจะมีการรับให้เข้มขึ้นหากเธอได้เป็นประธานธิบดีสหรัฐ
สอง ข้อเสนอที่เป็นนโยบายซึ่งหลายท่านมองว่าคล้ายคลึงกับคู่แข่งอย่างเบอร์นี แซนเดอร์ คือการเก็บภาษีความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ที่บรรดามหาเศรษฐีครอบครองอยู่ หรือ Wealth tax ด้วยอัตราภาษี 2% สำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งเกิน 50 ล้านดอลลาร์ และอัตราภาษี 3% สำหรับความมั่งคั่งที่เกิน 1 พันล้านดอลลาร์
ตามทฤษฎีแล้ว ในอเมริกา ได้มีการเก็บภาษีความมั่งคั่งสำหรับอสังหาริมทรัพย์ ส่วนทุนของบริษัทในภาคเอกชน หรือ estate tax รวมถึงตราสารทางการเงินต่างๆ อยู่แล้ว ทว่าภาษีที่นางวอร์เรนเสนอนั้น เก็บจากความมั่งคั่งของบรรดาเศรษฐีหลังผ่านการสะสมมาตั้งแต่ในอดีต โดยหลายท่านที่ได้รับมรดก (อัตราภาษีที่เก็บในปัจจุบันคือ 40%) มักจะช่องว่างทางกฎมายทางภาษีหลีกเลี่ยง ก็จะโดนเก็บภาษีด้วย โดยในอดีต นักการเมืองหลายท่านได้เคยเสนอกฎหมายทำนองนี้เข้าสภา ทว่าเกือบทั้งหมดถูกตีตกลงในเวลาต่อมาแทบทั้งหมด โดยแม้แต่สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็พยายามลดวามเข้มข้นของกฎหมายที่เก็บภาษีจาก estate tax ด้วยการเพิ่มระดับความมั่งคั่งต่ำสุดซึ่งต้องถูกเก็บภาษีให้สูงขึ้นมาเป็น 2 เท่า
ทั้งนี้ หากข้อเสนอของนางวอร์เรนสามารถเก็บภาษีนี้ได้ตามแผน จะสามารถเก็บเข้ามาเป็นรายได้ของรัฐด้วยมูลค่า 2.75 ล้านล้านดอลลาร์ ในเวลา 10 ปี จากรูป จะเห็นได้ว่าภาษีดังกล่าวจะช่วยลดช่องว่างคนรวยกับคนจนในอเมริกาได้ในระดับหนึ่ง
โดยแม้ว่าด้วยอัตราภาษีที่เก็บเพียง 2% ดูเผินๆ จะเป็นเหมือนว่าไม่ได้เยอะมากมายอะไรต่อผู้มีฐานะ อีกทั้งจะนำรายได้เหล่านี้ส่วนหนึ่ง ไปเป็นเม็ดเงินที่ช่วยยกหนี้ให้กับหนี้ก้อนมหาศาลต่อเด็กรุ่นใหม่เหล่าเด็กยุค millenium สำหรับสินเชื่อ Student Loan ทว่าด้วยการเก็บภาษีเป็นรายปี ทำให้โอกาสที่จะสามารถทำให้เป็นความจริงได้นั้น อาจมีอยู่ไม่มากสักเท่าไหร่
สาม เธอจะทำให้บริษัทเทคโนโลยีในตลาดหุ้นมีความผูกขาดต่ออุตสาหกรรมน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่บริษัทเหล่านี้ใช้เม็ดเงินมหาศาลในการเข้าซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กกว่าที่เป็นคู่แข่ง เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักของตนเอง
โดยนางวอร์เรนใช้ Hashtag #BreakUpBigTech เพื่อทำการโจมตีการที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐ สามารถผูกขาดในอุตสาหกรรมของตนเองแบบตั้งใจ รวมถึงโจมตีบริษัทเหล่านี้ในประเด็นการใช้ข้อมูลที่ตนเองเก็บจากผู้บริโภคในการหาประโยชน์ให้กับตนเอง พร้อมกับปกป้องสิทธิในเก็บข้อมูลส่วนตัวของชาวสหรัฐให้ความลับ โดยเธอได้กล่าวว่าไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลทางการเงินของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในการที่จะทำให้ บริษัทเหล่านี้กลับมารับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวของตนเอง
ทางฝั่งบริษัทเทคโนโลยีก็ได้กล่าวโจมตีกลับว่า นางวอร์เรนมีความพยายามที่จะนำหัวข้อการใช้ข้อมูลของบริษัทชั้นนำแนว Social Network ไปผนวกกับข้อหาการแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐปี 2016 ของรัสเซีย เข้าด้วยกันเพื่อใช้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งปี 2020 ของนางวอร์เรนเอง
ท้ายสุด ในส่วนนโยบายพลังงานของนางวอร์เรน เธอจะสนับสนุนการใช้พลังงานแบบ Renewable ด้วยการทุ่มงบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้าถึงหน่วยเศรษฐกิจต่างๆในสหรัฐ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้อาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยให้ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลยภายในปี 2028 ให้ไม่มีการปล่อยก๊าซคอร์บอนในรถยนต์และรถโดยสารภายในปี 2030 รวมถึงไม่ให้การผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซของเสียภายในปี 2035
ในภาพรวม การที่นโยบายของนางวอร์เรนค่อนข้างจะเป็นปฏิปักษ์กับบริษัทในภาคเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งตรงนี้ ทำให้การต่อสู้เพื่อเข้าสู่ทำเนียบขาวของเธอในปีหน้า มีความยากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณครับ