การปฏิรูประบบสาธารณสุข
ปัจจุบันนี้ ระบบบริการสาธารณสุขของไทยต้องทำงานคู่ขนานกับระบบการประกันสุขภาพ
ซึ่งผู้ที่ติดตามการปฏิรูประบบสาธารณสุขน่าจะทราบดีว่า ระบบประกันสุขภาพภาครัฐมีอยู่ 3 ระบบ คือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(หลักประกันสุขภาพฯ) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ
การที่ระบบสาธารณสุขไทยต้องทำงานคู่ขนานกับระบบประกันสุขภาพ ก็เพราะว่า ประชาชนเกือบทุกคน ต่างก็มีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการจ่ายค่าบริการสุขภาพจากระบบประกันสุขภาพ 1 ใน 3 ระบบนี้ ซึ่ง “สิทธิความคุ้มครอง” หมายความว่า ระบบการประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบนี้ เป็นหน่วยงานที่จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล หรือเรียกว่า “ค่าบริการสาธารณสุข” ให้แก่โรงพยาบาล(รพ.)แทนประชาชนที่ไปรับบริการ
ระบบการประกันสุขภาพที่ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานบริการประชาชนมากที่สุดคือ ระบบหลักประกันสุขภาพฯ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ทั้งนี้ชื่อที่เรียกนี้ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชนทั่วไป เพราะว่า ระบบนี้ไม่ได้รักษา “ทุกโรค” จริง เนื่องจากในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 บัญญัติไว้ใน มาตรา 5 บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และวรรค 3 ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศต่อสาธารณชนว่า “รักษาทุกโรค” แต่ในทางปฏิบัติ คกก.หลักประกันสุขภาพฯ ได้กำหนดไว้ว่า จะรักษาโรคใดหรือไม่รักษาโรคใดก็ได้ ตามแต่ที่คณะกรรมการฯจะ “ประกาศกำหนด” ถ้า รพ.ใดให้การรักษา “โรค” ที่คกก.ไม่ได้ประกาศกำหนด รพ.ก็เรียกเก็บ “ค่ารักษาโรค” นั้นๆ จาก “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ไม่ได้ และคกก. ยังได้ “ประกาศกำหนด” อีกว่าในการรักษาโรคแก่ประชาชนนั้น ถ้า รพ.รักษาโรคไปตามหลักวิชาการแพทย์ แต่ถ้าการดำเนินการดังกล่าว ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่ คกก.“ประกาศกำหนด” แล้ว รพ.ก็จะไม่ได้รับเงินค่าดำเนินการนั้นๆ เลย หรือได้รับเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ รพ. ที่มีหน้าที่ต้องรับผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุน ซึ่งตามหลักการบริหารกิจการบริการก็ต้องพูดว่า รพ.มีรายจ่ายจากการทำงานมากกว่ารายรับ เนื่องจากผู้ “ซื้อบริการ” คือ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงาน มีการ “ค้างชำระค่าบริการ” หรือจ่ายไม่ครบตามที่ รพ. เรียกเก็บไป นอกจากนั้น คกก. ควรตรวจสอบว่า ในการทำงานที่ผ่านมานั้นมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เคยได้รับการตรวจสอบจาก ทั้ง สตง. ดีเอสไอ คตร. คณะกรรมการตรวจสอบฯ ตามคำสั่งคสช. ที่ 11/ 2558 และการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่า มีการแก้ไขไปแล้วหรือไม่ อย่างไร
เพราะฉะนั้นจึงขอฝากถึงสมาชิกรัฐสภา ทั้งวุฒิสมาชิก(สว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า ถ้าจะมีข้อเสนอในการปฏิรูประบบสาธารณสุข ต้องปฏิรูประบบการประกันสุขภาพควบคู่กันไป จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง
อนึ่งขอเรียนท่าน รมว.สาธาณสุขว่า ท่านยังสวมหมวกประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกใบหนึ่ง ฉะนั้น ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำของทั้ง 2 องค์กรนี้ ท่านคือผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการแก้ปํญหา ทั้งในระบบหลักประกันสุขภาพฯ และระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้การปฏิรูประบบสาธารณสุขสำเร็จได้จริง
นอกจากนี้ ยังต้องปฏิรูปการบริหารจัดการ ระบบการบริการสาธารณสุขของกระทรวงเป็นอันดับแรก กล่าวคือต้องปฏิรูประบบการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันความเจ็บป่วย (อุบัติเหตุและโรค) การตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค (screening) การให้บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย และการฟื้นฟูสุขภาพ
ในการให้บริการด้านสาธารณสุขนั้น กระทรวงมีการแบ่งศักยภาพในการตรวจรักษาผู้ป่วยของแต่ละ รพ.เป็น 3 ระดับ คือ
1.ระดับปฐมภูมิ ได้แก่ รพ.สต. และ รพ.อำเภอ หรือ รพ.ชุมชน ซึ่งดูแลเฉพาะผู้ป่วยนอก หรือสังเกตอาการ
2. ระดับทุติยภูมิ ได้แก่ รพ.ชุมชน และ รพ.จังหวัด รักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในทั่วไป
3.ระดับตติยภูมิ ได้แก่ รพ.จังหวัดขนาดใหญ่ที่ได้ถูกกำหนดให้เป็น “ศูนย์การแพทย์” ที่ควรจะมีบุคลากร์ที่มีความรู้ เชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ยุ่งยากซับซ้อน ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทันโลก และทันโรค
แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่ ทรัพยากรดังว่า นี้ “ขาดแคลน” ทุกแห่งทุกที่ทุกระดับ โดยที่คกก. หลักประกันสุขภาพฯ มิได้จัดสรร “ค่าบริการสาธารณสุข” ให้แก่ รพ.อย่างครบถ้วน
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) ก็มิได้จัดสรรบุคลากรอย่างพอเพียง ต่อการทำงานที่มีมาตรฐาน และก.สาธารณสุขเองก็ไม่มีศักยภาพในการจัดหาเครื่องมือ อาคารสถานที่และเทคโนโลยีในการทำงานให้เหมาะสม ประชาชนจึงไม่อาจได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพได้จริง จึงพบว่าในหลายๆ กรณีมีการฟ้องร้อง ร้องเรียน
จึงขอเสนอแก่ คกก.ปฏิรูประบบสาธารณสุข ,ส.ว., ส.ส. และรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รมว.สาธารณสุข โปรดให้ความสนใจแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการทำงานบริการสาธารณสุขของ รพ.ในสังกัดให้ครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดจาก คกก. หลักประกันสุขภาพฯ ปัญหาที่เกิดจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) และปัญหาที่เกิดจากการบริหารกระทรวง จึงจะปฏิรูประบบสาธารณสุขให้เกิดประโยขน์สุขแก่ประชาชนได้จริง
ส่วนประชาชนจะช่วยให้ระบบบริการสาธารณสุขดีขึ้นได้ ด้วยการเอาใจใส่สร้างเสริมสุชภาพตนเองและครอบครัวให้แข็งแรง มีสุขภาพดี จะช่วยลดความแออัดในระบบบริการสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่ง
โดย...
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา