Japanification หากโลกต้องกลายเป็นเช่นญี่ปุ่น

Japanification หากโลกต้องกลายเป็นเช่นญี่ปุ่น

แม้กระแสความรู้สึกเรื่องเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 1-2 ปี ข้างหน้าลดลงไปบ้างแล้ว แต่คงไม่ได้สดใสแน่ๆ จากหลายปัจจัยประกอบกัน

 ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ ความคล่องตัวของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก และที่เห็นสำคัญ ความอึมครึมจากสงครามการค้า ที่ทำท่าว่าจะดี แต่ก็ไม่ถือว่าดี ทำท่าว่าจะแย่ ก็ไม่ถึงกับแย่  อีกกระแสที่เริ่มได้ยินคือ Japanification ที่ฟังดูไม่น่ากลัวเท่า Recession แต่กลายเป็นสิ่งที่ต้องหนีไม่แพ้กัน

 จากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเมื่อปี 1990 BoJ ต้องลดดอกเบี้ยและช่วยเหลือทั้งธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ที่เสี่ยงจะล้มละลาย แต่ด้วยลักษณะสังคมสูงวัยและคนมีลูกน้อย แรงงานจึงน้อย และมีพฤติกรรมชอบออมเงินมากกว่าใช้จ่าย ทำให้การจ้างงานภาคเอกชนลดลงและเงินเฟ้อต่ำ เมื่อนโยบายการเงินใช้ไม่ได้ผล รัฐบาลจึงยื่นมือเข้ามาด้วยนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาครัฐและอัดฉีดเงินเข้าระบบครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะพุ่งขึ้น ขณะที่รายได้จากภาษีซบเซา หลังต่อสู้กับเงินฝืดนานถึง 30 ปี ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงสุดในโลกถึงเกือบ 240% ในปัจจุบัน เทียบกับสหรัฐฯ ที่ 106.1% และเฉลี่ย 85.1% สำหรับยูโรโซน

 ญี่ปุ่นถูกดึงเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยนโยบายติดลบมานานเกือบ 4 ปีแล้ว บวกกับการเป็นสังคมสูงวัย และมีคนในวัยทำงานน้อย เงินเฟ้อต่ำ จนไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “หลุมดำแห่งเศรษฐกิจก็ว่าได้ เช่นกันกับยูโรโซนที่พยายามหนีจากการถูกดูดเข้าไปยังหลุมดำนี้เช่นกัน คำถามคือ ประเทศต่างๆ จะรอดพ้นด้วยการเรียนรู้จากญี่ปุ่นได้อย่างไร

 สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าอยู่

  • การขึ้นภาษีบริโภคเพื่อครอบคลุมสวัสดิการรับมือกับสังคมสูงวัยที่กำลังกัดกินเศรษฐกิจแดนซามูไร ขณะเดียวกันการขาดดุลทางการคลังมานานหลายสิบปี ส่งผลให้หนี้สาธารณะพุ่งเกือบแตะ 240% ของจีดีพีแล้วในปัจจุบัน
  • BoJ มีแผนจะซื้อสินทรัพย์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ BoJ จึงเป็นเจ้าของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเกือบครึ่งหนึ่ง ฉากต่อไปคือลดดอกเบี้ยลงไปติดลบมากกว่าเดิม
  • สังคมสูงวัย ดอกเบี้ยติดลบ และการรับแรงงานต่างถิ่น...แน่นอนว่า ผู้สูงวัยชอบออมมากกว่าใช้จ่ายเนื่องจากการวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณ ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงต่อเนื่อง เงินเฟ้อต่ำ ทางออกง่ายที่สุดของการเพิ่มวัยทำงานคือรับต่างด้าวที่มีฝีมือในสายงานที่ขาดแคลน แต่น่าแปลกที่รัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จจากนโยบายนี้เท่าที่ควร

 ฟังดูแล้ว คุ้นๆ ว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันค่อยๆ มีลักษณะคล้ายญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางหลักดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดๆ จนบางประเทศดอกเบี้ยเป็นศูนย์ไปจนถึงติดลบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังขุนไม่ขึ้น ประชากรโลกโดยเฉลี่ยอายุยืนขึ้น หลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย อัตราการเกิดลดลง คนเริ่มไม่จับจ่ายใช้สอยกันเท่าที่ควร ต่อให้รัฐบาลกระตุ้นเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล นำมาสู่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมาก

Japanification ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตไม่ได้ หรือจะไม่มีความผันผวน แต่หมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจแบบเอื่อยๆ แกร็นๆ มีอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ และอัตราการว่างงานก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำด้วย แต่ที่ดูจะขัดแย้งกับอัตราการว่างงานคือการเติบโตของภาคการผลิตและบริการที่อ่อนแอลง การขึ้นค่าแรงจึงไม่สะท้อนการขาดแคลนแรงงาน

 จากนี้ไปข้างหน้า ความไม่แน่นอนหลายประการในปัจจุบัน และการคืบคลานของ Japanification เข้ามาอย่างช้าๆ ไม่แน่ว่าเศรษฐกิจโลก จะยังอยู่ใน Late cycle หรือวัฏจักรเศรษฐกิจตอนปลายได้อีกนานเท่าใด และจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถอดถอยหรือไม่ หรือจะตกหลุมดำเช่นญี่ปุ่น อันไหนจะเกิดขึ้นก่อนกัน หรือหากโชคดีรอดพ้นจากสภาวะอันโหดร้ายทั้งสองได้ การลงทุนที่นักลงทุนยังควรจะมีคือ Core Portfolio ที่กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ เพื่อพยุงเงินลงทุนไม่ให้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเกินไปหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ยังแสวงหาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ดีในวัฎจักรขานั้นๆ