ชี้ช่องทางรวย แบบท้องถิ่นญี่ปุ่น (จบ)
ต่อจากฉบับที่แล้วถึงแนวคิดการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นญี่ปุ่นด้วยสินค้าที่เป็นตัวชูโรงนำรายได้ อันเริ่มเกิดขึ้นจากหมู่บ้านโอยามา จังหวัดโออิตะ
แนวคิดการสร้างเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจากสินค้าและสภาพภูมิประเทศที่โดดเด่นในท้องถิ่นนั้นๆได้ถูกนำมาประยุกต์จนเกิดเป็นโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่หลายประเทศทั่วโลกนำไปต่อยอด มากไปกว่านั้นญี่ปุ่นยังใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอีกมากมายเพื่อกระตุ้นให้ท้องถิ่นของตนโดดเด่นจนนักท่องเที่ยวอยากจะมาเยือนสักครั้ง
สินค้าและบริการที่นิยมส่วนใหญ่จะหลอมรวมเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นไว้ อาทิ อาหารหรือขนมที่ปรุงจากไอของน้ำพุร้อน การอบตัวในทรายดำที่เกิดจากเถ้าถ่านภูเขาไฟและความร้อนใต้พิภพในจังหวัดโออิตะ ผลิตภัณฑ์กระเบื้องอันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแห่งเมืองอาริตะ เป็นต้น และบรรจุภัณฑ์ที่ดีก็ทำหน้าที่ชูโรงสินค้าได้อย่างมีประสิทธิผล
คุมะมง หมีดำแก้มแดง มาสคอตของจังหวัดคุมาโมโตะ ในภูมิภาคนี้ถูกนำมาประทับบนบรรจุภัณฑ์เพื่อบอกให้ผู้รับสินค้าทราบว่าสินค้าชิ้นนี้ส่งตรงมาจากภูมิภาคคิวชู นอกจากนัยทางแหล่งกำเนิดสินค้า คุมะมงที่ถูกออกแบบเป็นการ์ตูนยังมีความน่ารักและถือเป็นทูตการค้าของภูมิภาคนี้อีกด้วย และสินค้ามากมายก็เกิดขึ้นรายล้อมตัวการ์ตูนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของภูมิภาค เช่น เครื่องเขียน ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตลาดโดยการสร้างแบรนด์ผ่านการใช้มาสคอตในแนวคิดแบบญี่ปุ่นนี้คือ ใครก็สามารถนำเจ้าคุมะมงนี้ไปใช้ได้ ขอแค่เพียงสินค้าที่นำไปขายนั้นมีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่มาจาก จ.คุมาโมโตะเท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่นิยมไปทั่วทั้งเกาะคิวชู เพราะเจ้าคุมะมงนี้ปรากฏอยู่ในทุกจังหวัดทั่วเกาะ มิได้แต่จำกัดอยู่ในจ.คุมาโมโตะเท่านั้น
มาสคอตที่เริ่มต้นจากตัวแทนจังหวัด กลายเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาค และสินค้าสำคัญของประเทศในที่สุด เพราะความนิยมของคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวและความน่ารักของคุมะมงบนหีบห่อที่น่าสนใจ โดยมีการประมาณการว่าในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมาเจ้าคุมะมงนั้นทำรายได้ให้ประเทศแล้วกว่า 42,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
อีกหนึ่งตัวอย่างของพื้นที่ที่ถูกพัฒนาจนกลายเป็นสถานที่ยอดนิยม คือ เมืองยุฟุอิน แห่งจังหวัดโออิตะ ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็กที่แต่เดิมนั้นมีชื่อเสียงเรื่องออนเซ็น แต่ก็ไม่สามารถเทียบชั้นกับเมืองหลวงแห่งออนเซ็น อย่างเมืองเบบปุ หรือหมู่บ้านคุโรกาว่าออนเซ็นที่มีชื่อเสียงได้ ซ้ำร้ายระยะทางที่อยู่ตรงกลางระหว่างแหล่งออนเซ็นชั้นดีทั้งสองยังทำให้นักท่องเที่ยวถ้าไม่เลือกไปออนเซ็นที่เบบปุก็เลยไปคุโรกาว่า
ยุฟุอินแก้เกมด้วยการสร้างภาพลักษณ์พัฒนาเมืองด้วยถนนคนเดินที่เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟและทะเลสาบที่มีความสวยงามประจำเมืองด้วยร้านค้าและคาเฟ่น่ารัก จนอาจจะพูดได้ว่าสร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจสุภาพสตรีโดยเฉพาะ และก็ประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะในปัจจุบันเมืองนี้นับเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวหลัก การช๊อปปิ้ง หาของอร่อยทาน และถ่ายรูปกับร้านค้าที่สวยงามมีความน่ารักถือเป็นพระเอกฉายรัศมีบดบังทะเลสาบและออนเซ็นกันเลยทีเดียว
สิ่งที่เมืองยุฟุอิน เจ้ามาสคอตคุมะมงและโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์นี้ มีความเหมือนกันคือ ทั้งสามล้วนถูกสร้างขึ้นจากความคิดของคนในท้องถิ่น ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์หรือภูมิประเทศ ถูกผลิตต่อ จนเป็นที่นิยมของท้องถิ่น และพัฒนาสู่ระดับชาติ และนานาชาติในปัจจุบัน ทั้งยังทำรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลที่เกื้อหนุนให้การท่องเที่ยวแบบเดิมจากทรัพยากรที่ท้องถิ่นมีให้ดูมีค่า มีมิติมีความหลากหลายมากขึ้น
เพราะไม่มีใครรู้จักท้องถิ่นนั้นๆ ดีไปกว่าคนในท้องถิ่นนั้น การตลาดในระดับท้องถิ่นจึงมีความสำคัญเพื่อให้ประเทศและโลกรู้ว่าท้องถิ่นนั้นมีอะไรดี มีอะไรเด่น เพื่อดึงดูดรายได้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในท้องถิ่น พูดได้ว่าทุกอย่างล้วนเริ่มต้นจากคนในท้องถิ่น ทำและต่อยอดโดยคนในท้องถิ่น เพื่อปากเพื่อท้องของคนในท้องถิ่นโดยแท้