ร่วมขับเคลื่อนพลวัตเศรษฐกิจสีเขียว
สวัสดีครับ ช่วงใกล้คริสต์มาสและปีใหม่นี้ เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงคิดไป Count Down ที่ไทม์สแควร์ นิวยอร์ก
หรือไปดื่มด่ำสัมผัสบรรยากาศหนาวในช่วงเทศกาลแห่งความสุขที่ปารีส หรือใกล้ๆ บ้านเราที่โตเกียว มหานครแห่งสีสันที่ผมกล่าวมานี้นอกจากจะเป็นหัวใจของธุรกิจอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ปัจจุบันนิวยอร์ก ปารีส โตเกียว และเมืองใหญ่อีกหลายแห่งยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินสำคัญที่รวมพลังกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวทั่วโลกในรูปแบบของเครือข่ายศูนย์กลางทางการเงินเพื่อความยั่งยืน
เครือข่ายศูนย์กลางทางการเงินสากลเพื่อความยั่งยืน (International Network of Financial Centres for Sustainability) หรือ FC4S Network ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2560 ในการประชุมที่เมืองคาซาบลังกา ราชอาณาจักรโมร็อกโก ซึ่งจัดโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) กับหน่วยงานราชการของประเทศต่างๆ นับแต่นั้น มีศูนย์กลางทางการเงินทั่วโลกทยอยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ FC4S Network อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน FC4S Network มีสมาชิกทั้งหมด 28 ราย โดยสมาชิกล่าสุดที่เพิ่งเข้าร่วมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 คือคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการเงินสีเขียว (Green Finance Advisory Board) แห่งเม็กซิโก ซึ่งต้องการผลักดันประเทศให้ก้าวสู่ตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวชั้นนำระดับภูมิภาค
ตามคำนิยามของสหประชาชาติ FC4S Network คือระบบพันธมิตรระหว่างศูนย์กลางทางการเงินตามประเทศต่างๆ กับ UNEP มีจุดประสงค์คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการบรรลุเป้าหมายร่วมเพื่อเร่งการเติบโตของสินเชื่อสีเขียวและการเงินที่ยั่งยืนตามศูนย์กลางทางการเงินในทวีปแอฟริกา อเมริกา เอเชีย และยุโรป โดยมีโครงข่ายการเชื่อมโยงระดับสากลอันมั่นคงเป็นรากฐานในการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ศูนย์กลางทางการเงินทั่วโลกเป็นเวทีสำหรับจับคู่อุปสงค์และอุปทานด้านการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)
รายงาน FC4S Network เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เผยผลประเมินการดำเนินงานของสมาชิกว่าศูนย์กลางทางการเงินเหล่านี้ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เครือข่ายความเชื่อมโยง และเงินทุนในการช่วยแก้นานาปัญหาสำคัญทางการเงินของโลกได้อย่างไร สรุปได้ดังต่อไปนี้
- โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนรูปแบบใหม่ เชื่อมโยงนโยบายเข้ากับการปฏิบัติจริง
- ก้าวข้ามอุปสรรคต่อการเติบโตของศูนย์กลางทางการเงิน 3 ประการ คือ การขาดแคลนผลิตภัณ์ทางการเงิน สีเขียว มาตรฐานไม่สอดคล้องกัน และอุปสงค์ตลาดไม่เพียงพอ
- มองให้กว้างกว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนแท้จริงแล้วยังรวมไปถึงหัวข้ออื่นๆ ทางสิ่งแวดล้อมอย่างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต้นทุนธรรมชาติ (Natural Capital) รวมถึงประเด็นทางสังคม เช่น การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact Investing)
- นวัตกรรมทางนโยบายในฐานะแรงขับเคลื่อนหลักในการกำกับระบบการเงิน
- ตราสารทางการเงินที่หลากหลาย โดยเฉพาะหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond)
- พัฒนาการของแต่ละอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเดิม
- บริการมืออาชีพเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น บริการจัดอันดับและบริการที่ปรึกษาเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ยังเริ่มปรากฎบริการอื่นๆ ในทิศทางนี้ เช่น การวิจัยเพื่อความยั่งยืน การซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Trading) เป็นต้น
- สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ในอนาคตสำหรับสมาชิกศูนย์กลางทางการเงินคือการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงวิธีการเก็บข้อมูล และมาตรฐานตลาดที่ดียิ่งขึ้น
- มุ่งเน้นนวัตกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) แก้ปัญหาความท้าทายของการเงินที่ยั่งยืน
- ส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในรูปแบบโครงการทวิภาคี
ผลการรายงานครั้งนี้ได้นำไปใช้จัดตั้งหลักเกณฑ์ร่วมสำหรับประเมินระดับความคืบหน้าในการปรับแนวการเงินให้ยั่งยืนไปในทางเดียวกัน อีกทั้งเป็นข้อมูลประกอบการจัดวางวิธีดำเนินงานของ FC4S Network ให้เป็นระเบียบชัดเจนยิ่งขึ้น ก้าวต่อไปหลังจากที่ได้รับทราบผลประเมินนี้คือการระดมทักษะและเงินทุนของเหล่าศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำไปสู่บริเวณที่มีความต้องการมากที่สุด โดยเป้าหมายของเครือข่ายในปีนี้คือการส่งเสริมการเงินสีเขียวที่ยั่งยืนตามบรรดาศูนย์กลางทางการเงินในทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้สีเขียวเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการบริหารสินทรัพย์ตามหลักเกณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่เข้มงวดกว่าเดิม เพราะศูนย์กลางทางการเงินทุกแห่งล้วนสำคัญต่อโครงสร้าง บทบาท และพลวัตในระบบเศรษฐกิจโลก และ FC4S Network คือหนึ่งในพลังขับเคลื่อนกิจกรรมทางธุรกิจในหลายประเทศให้ก้าวสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน