3 เหตุผล ถึงเวลาไทยต้องลงนาม ILO 87 และ 98
การสั่งตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า(จีเอสพี)ของไทยโดยสหรัฐ จุดประเด็นให้ไทยต้องเอาจริงกับการลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 อีกครั้ง
เพราะไทยยังไม่ยอมรับอนุสัญญา ILO ดังกล่าว ทำให้ทั้งลูกจ้างไทยและต่างด้าวเสียสิทธิและเสียประโยชน์
หากทบทวนย้อนหลังไปในปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีความพยายามมาไม่น้อยในเรื่องการปฏิรูปปรับปรุงการคุ้มครองแรงงานไทยและต่างด้าว แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อให้พ้นจากการไม่ผ่านเกณฑ์และการเฝ้าจับตาจากสากล ทั้ง รายงานการค้ามนุษย์ และประมงผิดกฎหมายจนสามารถปลดล็อคทั้งบัญชีรายงานการค้ามนุษย์และใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายได้สำเร็จ
แต่ประเด็นสำคัญในมุมมองของสากลและกลุ่มเครือข่ายแรงงานของไทย คือ ทำไมไทยจึงยังไม่ผลักดัน หรือ ยอมรับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ที่เป็นหลักประกันการรับรองสิทธิลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวให้จัดตั้ง รวมตัวและต่อรองกับนายจ้างได้ หรือการจัดตั้ง “สหภาพแรงงาน” ซึ่งทั้งเครือข่ายแรงงานไทยและต่างประเทศต่างมีความพยายามผลักดันมามากกว่า 20 ปี จนถูกหยิบมาเป็นสาเหตุที่จะทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษจีเอสพี ด้วยเหตุผลว่า สิทธิแรงงานต่างด้าวและไทย ยังไม่ได้มาตรฐานสากล
หากพิจารณาทบทวนถึงผลดีและผลเสียในด้านความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว ในมุมของผู้เขียนมองว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยควรให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ
1.เพื่อยกระดับสิทธิพื้นฐานของแรงงานตามมาตรฐานสากล
การไม่ยอมรับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ทำให้ที่ผ่านมาสัดส่วนสหภาพแรงงาน และสมาชิกสหภาพแรงงานมีน้อยมากคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.62 เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานในระบบกว่า 17 ล้านคน มีสหภาพ 1.4 พันแห่ง สมาชิก 6.1 แสนคน แต่จำนวนแรงงานในระบบมีถึง 17.11 ล้านคน แต่มีแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานอีก 21.7 ล้านคนหรือร้อยละ 50
สำหรับสหภาพแรงงานที่มีอยู่โดยทั่วไปนั้นแรงงานไทยจะทำหน้าที่เป็นแกนนำ หารือเจรจากับนายจ้างแทนแรงงานต่างด้าว ทำให้ที่ผ่านมาสิทธิบางอย่างของแรงงานต่างด้าวยังไม่เท่าเทียม หรือเผชิญข้อจำกัด เช่น สิทธิประกันสังคม เงินสะสมในกองทุนประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งการที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ ทำให้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ค่าจ้างต่ำ และมีสภาพการจ้างงานและสวัสดิการที่ด้อยมาตรฐาน
ทั้งที่โดยหลักการแล้ว การยินยอมให้มีการรวมตัวเรียกร้อง หรือจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นเป็นสิทธิที่แรงงานพึงมีก่อนมีกฎหมายรองรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
2.การจัดระเบียบปรับปรุงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีความชัดเจนและมุ่งมั่นจัดระเบียบการขึ้นทะเบียน การขอวีซ่า ขอใบอนุญาตของแรงงานต่างด้าว จนทำให้สถานการณ์การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวมีสัดส่วนเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น และเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระบุว่า เดือนกันยายน 2562 มีแรงงานต่างด้าวประเภททั่วไปที่เข้ามาทำงานในไทย จำนวน 3,222,150 คน โดยเป็นแรงงานที่ได้รับการอนุญาตหรือมีหนังสือเดินทางตามกฎหมาย เป็นจำนวน 1,747,723 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการได้รับการผ่อนผันให้ทำงานตามระยะเวลากำหนด เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตไทยที่มีแรงงานที่ใบอนุญาตหรือถูกต้องตามกฎหมายเพียง 1,626,235 คน เท่านั้น (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2559)
ความพยายามของรัฐบาล คสช. ทำให้แรงงานต่างด้าวได้ทำงานอย่างถูกกฎหมายนี้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและมั่นคงให้รัฐเปิดกว้างยอมรับการลงนามอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพราะเมื่อรัฐบาลมีความยินดีเปิดกว้างให้แรงงานเข้ามาทำงานเป็นการช่วยสร้างผลิตภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับประเทศแล้ว ไทยก็จำเป็นต้องเคารพสิทธิ ความเท่าเทียมของแรงงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
3. ผลประโยชน์ระยะยาวสำหรับนายจ้างและประเทศ
สำหรับนายจ้าง การลงนามในอนุสัญญาจะช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ในปัจจุบัน และอนาคตที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น จากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ
หากไทยลงนามจะทำให้มีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจา อยู่ร่วมกันได้และเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนอย่างแท้จริง
ระดับประเทศ การลงนามเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เนื่องจากช่วยปรับสถานะไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างไปทั่วโลก
การแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ในระยะยาว การให้สัตยาบันจะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวย คนจน
อย่างไรก็ตามการให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 อาจจะมีผลกระทบในทางลบต่อประเทศ คือ ความมั่นคงของชาติอยู่บ้าง แต่การเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและการไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งประเด็นนี้ฝ่ายความมั่นคงของชาติน่าจะสามารถดูแลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกองกำลังของชาติอยู่เป็นจำนวนมาก
ด้วย 3 เหตุผลนี้ผู้เขียนมองว่า รัฐบาลควรส่งสัญญาณให้ชัดเจนในการร่วมให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพราะหากล่าช้าไปกว่านี้จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งข้ออ้างในการถูกตัดสิทธิจีเอสพี ทำให้ไทยอาจจะมีภาระต้นทุนในการส่งออกสินค้าทั้ง 573 รายการที่ถูกตัดสิทธิสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างมากกว่าผลทางด้านความมั่นคงของชาติและด้านสังคมที่รัฐบาลให้ความกังวลอยู่ในขณะนี้
(ขอขอบคุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา (คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท) รายงานเรื่อง “อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทำไมต้องให้สัตยาบัน?” สำหรับเป็นพื้นฐานในการเตรียมบทความฉบับนี้)
โดย...
ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ราตรี ประสมทรัพย์