ไปบวชที่อินเดีย ด้วยศรัทธา !?
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีคำถามว่า "ลักษณะผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร"
โดยปกติเรามักจะเข้าใจถึงซึ่งความมีศรัทธา 4 ว่า เป็นหลักศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้แก่ กัมมสัทธา คือ ความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมว่ามีอยู่จริง วิปากสัทธา คือ ความเชื่อในวิบากหรือเชื่อผลของกรรมว่ามีอยู่จริง กัมมัสสกตาสัทธา คือ เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน และตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระบรมศาสดา ว่าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณ 9 ประการ ตรัสธรรมบัญญัติไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทาง แสดงให้เห็นว่ามนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์ หลุดพ้นได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงกระทำไว้เป็นแบบอย่าง ตามหลัก ทำให้ดู บอกให้รู้ ชี้ให้เห็น
ศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงเป็นความเชื่ออย่างมีเหตุมีผล อันเกิดจากความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง เรียกว่า เป็นศรัทธาที่มีปัญญาก็ว่าได้ แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงความหมายของศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งหากจะต้องตอบคำถามของคำว่า ลักษณะผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไรนั้น คงจะต้องยกหลักธรรมคำสอนจาก “สุภูติสูตร” โดยจะเล่าโดยย่อพอเข้าใจว่า "ครั้งหนึ่งพระสุภูติเถระได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมภิกษุที่เป็นลูกศิษย์รูปหนึ่ง"
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามพระสุภูติว่า “ภิกษุรูปนี้ชื่ออะไร” พระเถระกราบทูลว่า “ภิกษุรูปนี้ชื่อว่า สัทธะ เป็นบุตรอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามต่อไปว่า “สัทธภิกษุนี้ เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาแล้วหรือ”
พระเถระกราบทูลว่า “บัดนี้เป็นกาลอันสมควร ขอพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธาเถิด พระเจ้าข้า .. เพื่อข้าพระองค์จักทราบในบัดนี้ว่า ภิกษุนี้จะเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือไม่”
พระพุทธองค์จึงได้วิสัชนาเรื่องดังกล่าวโดยสรุปดังนี้ว่า 1.) ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกข์สังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจระ มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
2.) ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แม้นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
3.) ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
4.) ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาฯ”
ตามที่กล่าวมาว่าด้วยลักษณะศรัทธาของผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งขออ้างอิงคำสั่งสอนใน “สุภูติสูตร” โดยยกมาโดยย่อพอประกอบการพิจารณาทำปัญญาให้เข้าใจถึงลักษณะศรัทธาของผู้มีจิตศรัทธา ที่จำแนกให้เห็นชัดเจนในข้อ 1, 2 และ 3 ซึ่งมุ่งไปสู่ข้อสุดท้าย คือ การศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ท้อถอย ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย จนบรรลุถึงพระนิพพานในอัตภาพนั้น ดังที่ทรงกล่าวว่า “เพื่อทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่”
เมื่อเข้าใจลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาตามที่กล่าวมา คงจะตอบตนเองได้ว่า ที่เราทำบุญสร้างกุศลในฐานะคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน หรือ การออกบวช 7 วัน 15 วัน 30 วัน ในพระพุทธศาสนา หรือ การนิยมไปบวชกันที่อินเดียนั้น แท้จริงใช่ลักษณะของผู้มีจิตศรัทธา ถูกต้องตรงตามลักษณะแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้หรือไม่
เรื่องการทำบุญสร้างกุศลหรือออกบวชด้วยศรัทธาหรือไม่นั้น จึงเป็นเรื่องที่น่านำมาศึกษาในทุกยุคสมัย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามหลักธรรมคำสั่งสอน อันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นที่ตรงธรรม ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจในจุดมุ่งหมาย หลักการ และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เพื่อจะได้ไม่ศรัทธาหลงทาง
เจริญพร