เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มธนาคาร ราคาตอนนี้ลงทุนได้หรือยัง
หุ้นกลุ่มธนาคารโดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่มีการซื้อขายในปัจจุบันที่ต้ำกว่า PBV ในแง่ของ Valuation ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้าลงทุน
เพราะราคาปัจจุบันค่อนข้างถูก แต่เหตุใด ราคาถึงยังไม่ปรับตัวขึ้นเท่าที่ควร วันนี้เราจะมาตอบข้อสงสัยนี้กันครับ
มาที่ธนาคารแรกอย่าง BBL หรือธนาคารกรุงเทพ ซื้อขายกันที่ PBV 0.6 เท่า โดยราคาพยายามที่จะผ่านยืนแนวต้าน 180 แต่หลังจากมีประเด็นการซื้อธนาคารใหม่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่ตลาดมองว่าซื้อมาแพงเกินไปที่PBV 1.77 เท่า ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 8.1 หมื่นล้านบาท รวมถึงอาจจะมาเบียดเบียนเงินกองทุนที่จะเอามาจ่ายปันผลที่น้อยลง แต่อย่างไรก็ดี หลังเราได้เข้าพบผู้บริหารของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันว่าที่ซื้อมาไม่แพง สามารถเสริมสร้างและต่อยอดธุรกิจโดยเฉพาะด้าน Digital platform ที่ partner นี้มาช่วยเติมเต็ม รวมถึงอินโดนีเซียยังเป็น growth market โดยดีลนี้คาดว่าจะเสร็จในปี 63 และสามารถรับรู้กำไรสุทธิได้เลยทันที ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะผลประกอบการหลังจากควบรวมกันเสร็จแล้วจะเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ โดยฝ่ายวิจัย ASL ได้ให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 197 บาท
ถัดมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่มีประเด็นในเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ของ PACE ที่จัดชั้นเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีธนาคารชี้แจงแล้วว่าไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มเนื่องจากมีหลักประกันที่เกินมูลค่ามูลหนี้แล้ว รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมปรับโครงสร้างทางการเงินแปลงหนี้เป็นทุน มองว่าเป็น win-win situation ราคาจึงปรับตัวขึ้นสะท้อนข่าวดังกล่าวและเป็นธนาคารคารขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่สามารถเทรดเหนือ PBV ที่ 1.0 เท่าได้ ขณะที่ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังผ่านช่วงจุดสูงสุดของงบลงทุนด้าน IT และมีการเพิ่มพอร์ทลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้นซึ่งมี Yield ที่สูงกว่า โดยฝ่ายวิจัย ASL ได้ให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 146 บาท
ขณะที่ KBANK หรือธนาคารกสิกร ปรับตัวลงแรงมากหลังประกาศเป้าทางการเงินที่เป็น negative sentiment และผลประกอบการอย่างเป้าหมายการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่หดตัวในช่วง -5% ถึง -17% โดยเฉพาะธุรกิจประกันที่มีการแข่งขันสูงและมีมาตรการ market conduct ที่มาควบคุมการขาย ดังนั้นตลาดจึงมีการปรับลดราคาเป้าหมายลงโดยฝ่ายวิเคราะห์ ASL ได้ให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 162 บาท
ส่วน KTB หรือธนาคารกรุงไทย ไม่ได้มีประเด็นอะไรมากดดันมากนัก มีเพียงงบลงทุนด้าน IT ที่จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ส่วนการปรับลดสาขาวางแผนจะปิดสาขาอีก 50-70 สาขาในปี 63 ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อในปีหน้า หลัก ๆ จะมาจากสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ที่มีแผนจะรุกเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้กับคู่ค้าของลูกค้าเดิมของธนาคาร เพื่อเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ธนาคารมีอยู่ให้เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มกลับมาให้กับธนาคาร และเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปในตัว ทำให้การเติบโตของธนาคารยังมีช่องทางที่สามารถขยายไปได้มากขึ้นโดยฝ่ายวิเคราะห์ ASL ได้ให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 18 บาท
ด้านธนาคาร TISCO-KKP ยังคงโดดเด่นในแง่หุ้น high dividend yield โดย TISCO ฝ่ายวิเคราะห์มองว่า ราคาซื้อขายปัจจุบันเข้าใกล้ราคาเป้าหมายที่ 103 บาท ขณะที่ KKP หลังถูกปรับออกจาก SET50 เป็นsentiment เชิงลบกดดันราคาให้พักฐานสักระยะ แต่สู้แนวโน้มผลประกอบการที่ออกมาดีไม่ไหว ราคาเลยปรับตัวขึ้นต่อ โดยรายได้ค่าธรรมเนียมจาก IB จะโดดเด่นมากในปีนี้จากการนำหุ้นเข้าตลาดและดีลการควบรวมหุ้นขนาดใหญ่ในตลาด จะหนุนผลประกอบการในปีนี้ ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อยังคงโดเด่น ขยายตัวมากกว่า 10% ในปีนี้ แม้จะมีฐานที่สูงในปีก่อนก็ตาม โดยฝ่ายวิเคราะห์ ASL ได้ให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ของ KKP ที่ 76 บาท
และสุดท้ายหุ้น TMB-TCAP ที่มีประเด็นการควบรวมกัน หลังระยะเวลาการใช้สิทธิ TMB-T1 เสร็จสิ้น ราคา TMB ก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มองว่าว่ากระบวนการต่างๆ น่าจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.นี้ และคงใช้เวลาในการควบรวมกิจการราว 18-24 เดือน ซึ่งค่อนข้างนานมาก และหลังควบรวมเสร็จ ธนาคารใหม่จะเป็นธนาคารที่จะมีสัดส่วนสินเชื่อที่กระจายตัวไปในทุกภาคส่วนได้อย่างลงตัว และน่าจะเป็นธนาคารที่เป็นคู่แข่งขันที่สูสีกับธนาคารขนาดใหญ่ได้ ส่วน TCAP ประกาศจะจ่ายปันผลพิเศษอีก 4 บาท และมีการซื้อหุ้นคืน จึงหนุนให้ราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยฝ่ายวิเคราะห์ ASL ได้ให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ของ TMB ที่ 1.9 บาท และ TCAPที่ 60 บาท
จากปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละธนาคารที่ไม่ได้ช่วยผลักดันผลประกอบการให้ออกมาแข็งแกร่ง กอรปกับปัจจัยภายนอกอย่างภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกดดันราคากลุ่มธนาคาร และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 1.25% นั้น กดดัน NIM ของธนาคารขนาดใหญ่ แต่ช่วย save ต้นทุนทางการเงินของธนาคารขนาดเล็ก ดังนั้นเพื่อตอบคำถามที่ว่าตอนนี้กลุ่มธนาคารน่าลงทุนแล้วหรือยัง เรามองว่าต้องใช้กลยุทธ์ Selective Buy โดยเราเลือกSCB BBL เป็นหุ้น Top pick ของธนาคารขนาดใหญ่ และเลือก KKP โดดเด่นในธนาคารขนาดกลางจาก Upside ที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีปันผลที่โดดเด่น